xs
xsm
sm
md
lg

เขตฯ สลักพระเตรียมขุดคลอง 10 กม. แก้ปัญหาช้างป่าสลักพระรุกที่ชาวบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ กาญจนบุรี เตรียมขุดคลอง 10 กม. แก้ปัญหาช้างป่าสลักพระบุกรุกพื้นที่ชาวบ้าน ชี้ “ไอ้แหว่ง ตาบอด” ช้างสีดอ ไม่ดุร้าย หากต้องจับเขาไปไว้ในสถานที่ควบคุมก็คงต้องส่งไปที่สถาบันคชบาลลำปางเท่านั้น ยันช้างป่าสลักพระมีกว่า 270 ตัว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใจกลางป่าที่มีน้ำ และอาหารอุดมสมบูรณ์



วันนี้ (23 พ.ค.) นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 858.55 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 536,594 ไร่ ครอบคลุมท้องที่ ต.วังด้ง ต.ช่องสะเดา อ.เมืองกาญจนบุรี ต.หนองรี ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย ต.หนองปรือ อ.หนองปรือ ต.ท่ากระดาน ต.หนองเป็ด ต.ด่านแม่แฉลบ ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีช้างป่าอาศัยอยู่กว่า 200 ตัว กรณีช้างตัวตาบอดที่ออกมารบกวนชาวบ้านบริเวณตำบลท่ากระดาน และหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรีนั้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้จัดกำลังเฝ้าระวังแบบนี้ทุกปี คือ ช้างตัวดังกล่าวมีปัญหาเรื่องของสายตา และจะออกช่วงฤดูที่มีมะม่วงทุกปี พอเข้าฤดูฝนก็จะกลับสู่ป่า และไม่เห็นกันกว่า 7 เดือน

ในเรื่องของการจัดการป้องกันนั้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการ สำรวจ ทำแนวรั้วไฟฟ้า และขุดคูประกอบเพิ่มเข้าไป เนื่องจากว่าการดำเนินการวิธีใดวิธีหนึ่ง เพียงวิธีเดียวไม่สามารถควบคุมช้างไม่ว่าตัวไหนได้

และในปี 2560 จะได้ดำเนินการขุดคูต่อจากบริเวณสามแยกท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ ไปอีก 10 กิโลเมตร ซึ่งน่าจะช่วยป้องกันได้มากขึ้น เราต้องไม่ลืมว่า ช้าง โดยพฤติกรรมของเขาแล้วมีวงรอบการเดินหากินซ้ำๆ จนสิ้นอายุขัย และเป็นการสั่งสอนต่อเนื่องจากรุ่นพ่อรุ่นแม่เขา เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาอยู่บริเวณนั้นก่อนพวกเราแน่ๆ

ช้างตัวหนึ่งอายุ 70-80 ปี ตัวนี้คาดว่าน่าจะมีอายุประมาณ 40 ปีเศษ อีกประการหนึ่ง เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้ติดตามเฝ้าระวังแบบนี้ทุกคืน ตลอด 24 ชั่วโมง จากการสังเกตพบว่า ออกมากินมะม่วงได้ระยะหนึ่งก็จะกลับคืนสู่ป่าเอง ยิ่งไล่ยิ่งวุ่นวายเพราะเขาดื้อแต่ไม่ดุร้ายอย่างที่ใครๆ คิด เจ้าหน้าที่ของเราอยู่กับเขามา เราเรียนรู้พฤติกรรมจากการสังเกต และจากการศึกษาจากสถาบันคชบาล จ.ลำปาง มาเป็นอย่างดี

ช้างตัวนี้ไม่เคยทำร้ายใคร โดยเจ้าหน้าที่ก็ได้ให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ให้เข้าไปใกล้ช้างจนเกินไป อันอาจส่งผลให้เขาเกิดความเครียด และอาจส่งผลเสียได้ การที่มีผู้กังวล และอยากให้ขนย้ายช้างตัวนี้ไปอยู่ในพื้นที่อื่นนั้น เราเชื่อว่าอาจส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่าเดิม

เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่ที่คุ้นเคย อีกประการหนึ่งถ้าต้องจับเขาไปไว้ในสถานที่ควบคุมก็คงต้องส่งไปที่สถาบันคชบาลจังหวัดลำปาง แต่ทั้งนี้ เบื้องต้นทางสำนักงานเขตได้เคยรายงานถึงลักษณะ และสภาวะสภาพร่างกายของช้างดังกล่าวนี้ให้ผู้บังคับบัญชาทราบเบื้องต้นแล้ว

นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เปิดเผยต่อว่า ได้มีงานวิจัยเมื่อปี 2545 โดย ท่าน ดร.ชมชื่น ศิริผันแก้ว และ ดร.ชลิตา คงฤทธิ์ ปัจจุบัน เป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิจัยจาก DNA พบว่า ช้างสลักพระเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้นมีจำนวน 182 ตัว โดยเนื้อหางานวิจัยสรุปว่า เป็นช้างที่อยู่วัยเจริญพันธุ์ และก่อนเจริญพันธุ์เป็นส่วนใหญ่

ต่อมา ในปี 2555 ได้มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งโดยทำวิจัยเกี่ยวกับการวัดกองมูล และประเมินค่าทางสถิติ พบว่า ช้างป่าที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีมากกว่า 270 ตัว จะเห็นได้ว่า ช้างกลุ่มใหญ่ไม่ได้ออกมารบกวนชาวบ้านอย่างที่ทุกคนคิดว่าสาเหตุเป็นเพราะภัยแล้ง ซึ่งช้างที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นพวกตัวเดิมๆ กลุ่มเดิมๆ ที่ออกมาทุกปีในช่วงฤดูผลผลิตทางการเกษตร

และได้เคยมีสื่อมวลมวลชนมาติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระในตอนกลางของพื้นที่ ก็พบว่า พื้นที่ตอนกลางที่เป็นแหล่งใหญ่อันเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่ายังคงมีแหล่งน้ำทำให้สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตอนกลางของผืนป่าไม่ขาดแคลนน้ำ และอาหารแต่อย่างใด

กำลังโหลดความคิดเห็น