xs
xsm
sm
md
lg

นิคมสร้างตนเองห้วยหลวงเดินหน้าฟื้นฟูอาชีพใหม่คนขอทาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง พื้นที่เป้าหมายพัฒนา และฟื้นฟูศักยภาพขอทาน เสริมนโยบายจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ 1 ใน 5 จังหวัดนำร่องบ้านน้อยในนิคม ตั้งเป้าสร้างอาชีพใหม่ให้คนขอทาน สนองนโยบายกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ลดจำนวนขอทาน

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการสร้างชีวิตใหม่ให้ขอทานคนเร่ร่อนคนไร้ที่พึ่งบ้านน้อย ในนิคมของนิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี

นายธีรพล เปล่งเกียรติกุล ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองห้วยหลวง กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาคนขอทานในประเทศให้ลดจำนวนลง จึงมีการจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ

โดยให้คนขอทานที่เป็นคนไทยเข้ารับการพัฒนา และฟื้นฟูศักยภาพที่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จนเป็นที่มาของ “ธัญบุรี โมเดล” มีเป้าหมายลดปริมาณขอทานด้วยการจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ โดยโครงการฯ มุ่งพัฒนา และฟื้นฟูศักยภาพขอทาน ทั้งทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และด้านการประกอบอาชีพ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เล็งเห็นความสำคัญ และประโยชน์ของธัญบุรีโมเดล จึงทำการต่อยอดโครงการธัญบุรีโมเดล โดยมีแนวคิดให้ผู้ใช้บริการที่ผ่านกระบวนการพัฒนา และฟื้นฟูศักยภาพจากสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแล้ว รับการประเมินว่า มีศักยภาพที่จะสามารถออกมาทดลองใช้ชีวิตอิสระได้ภายในหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยได้กำหนดพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด

ประกอบด้วย นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จ.อุดรธานี, นิคมสร้างตนเองปราสาท จ.สุรินทร์, นิคมสร้างตนเองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์, นิคมสร้างตนเองลพบุรี จ.ลพบุรี และนิคมสร้างตนเองทุ่งสาน จ.พิษณุโลก เพื่อดำเนินโครงการสร้างชีวิตใหม่ให้คนขอทานคนเร่ร่อนคนไร้ที่พึ่งบ้านน้อยในนิคม

ทั้งนี้ นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จ.อุดรธานี เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินโครงการบ้านน้อยในนิคม โดยได้รับการส่งต่อผู้ใช้บริการจากสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และสถานคุ้มครองไร้ที่คนไร้ที่พึ่งบ้านเมตตา จังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมโครงการ และดำเนินการตามวัตถุประสงค์เตรียมความพร้อมในการคืนสู่สังคม

ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการอยู่ในความดูแล 10 คน และเมื่อเข้าโครงการแล้วฯ จะใช้คำว่าสมาชิกบ้านน้อยในนิคม โดยสมาชิกบ้านน้อยในนิคม จะได้รับการฝึกอาชีพทางการเกษตร กิจกรรมทางการเกษตร ได้แก่ การปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกข้าวโพด การเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงกบ เลี้ยงปลาดุก และการทำไม้กวาดดอกหญ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการสร้างชีวิตใหม่ให้คนขอทานคนเร่ร่อนคนไร้ที่พึ่ง จำเป็นต้องทำงานบูรณาการร่วมกับทีมสหวิชาชีพ อันได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาล ตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในการร่วมการประเมินศักยภาพสมาชิกบ้านน้อยในนิคม ตามกระบวนการฟื้นฟู และพัฒนาศักยภาพ เพื่อประเมินความสามารถในการใช้ชีวิตด้วยตนเอง พร้อมคืนสู่ครอบครัว และสังคมได้อย่างเหมาะสมต่อไป
 นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

กำลังโหลดความคิดเห็น