บุรีรัมย์ - เกษตรกร ต.แสลงพัน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ กว่า 40 ครัวเรือนปลูกเมลอนสายพันธุ์ญี่ปุ่นและแคนตาลูปปลอดสารเคมี โดยใช้น้ำบาดาลที่ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะให้กระจาย 16 จุด ต่อผ่านท่อทำเป็นระบบน้ำหยดฝ่าวิกฤตแล้งควบคู่กับการทำนา สร้างรายได้ปีละกว่า 20 ล้านบาท
วันนี้ (17 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกร 11 หมู่บ้านใน ต.แสลงพัน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ กว่า 40 ครัวเรือน ได้พากันปลูกเมลอนสายพันธุ์ญี่ปุ่นและแคนตาลูปสายพันธุ์ไทยปลอดสารเคมีโดยใช้ปุ๋ยคอกและน้ำหมักชีวภาพ ควบคู่กับการทำนา รวมเนื้อที่เกือบ 200 ไร่ โดยใช้น้ำบาดาลที่ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลภาค 5 (นครราชสีมา) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มาดำเนินการขุดเจาะกระจายในพื้นที่ 16 บ่อ พร้อมก่อสร้างแท็งก์ปูนขนาดใหญ่ที่สามารถจุน้ำได้ 54 ลูกบาศก์เมตร อีกจำนวน 8 แท็งก์
ก่อนต่อท่อทำระบบส่งน้ำไปยังแปลงเมลอนหรือแคนตาลูป แล้วทำเป็นระบบน้ำหยดใช้รดน้ำแปลงปลูกเมลอนหรือแคนตาลูปเพื่อเป็นการประหยัดน้ำสามารถแก้ปัญหาประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี รวมทั้งใช้น้ำหมักชีวภาพหรือปุ๋ยคอกแทนการใช้สารเคมีด้วย
โดยเมลอนหรือแคนตาลูปจะใช้ระยะเวลาในการปลูกเพียง 65-80 วันแล้วแต่สายพันธุ์ ผลผลิตที่ได้เกษตรกรส่งต่อให้สมาชิกนำไปวางขายตามริมถนนทางหลวงหมายเลข 226 สายบุรีรัมย์-ลำปลายมาศ ทั้งมีผู้ประกอบการมารับซื้อถึงสวนเพื่อนำไปขายต่อตามห้างร้านต่างๆ อีกด้วย สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มฯ ปีละกว่า 20 ล้านบาท หรือเฉลี่ยครัวเรือนละ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน
นางแสงจันทร์ ปวงสุข ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ปลูกแคนตาลูปหนองสรวง บอกว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกแคนตาลูปใน ต.แสลงพันจะประสบปัญหาภัยแล้งและศัตรูพืชระบาดทำให้ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี แต่หลังจากทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลภาค 5 ได้มาดำเนินการขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่ให้ 16 บ่อ เมื่อปี 2555 ประกอบกับเกษตรกรมีการปรับลดพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม
รวมทั้งมีการปรับตัวโดยการทำเป็นระบบน้ำหยดในแปลงปลูกทำให้พ้นวิกฤตภัยแล้งทั้งยังสามารถปลูกแคนตาลูปและเมลอนสายพันธุ์ญี่ปุ่นได้ตลอดทั้งปี บางรายที่มีพื้นที่เพียงพอก็ปลูกควบคู่กับการทำนาได้ ปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้จากการปลูกแคนตาลูปและเมลอนครัวเรือนละ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน
ด้าน นางอุไร สุขประเสริฐ อายุ 42 ปี เกษตรกรบ้านสี่เหลี่ยมเจริญ ม.10 ต.แสลงพัน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่รับแคนตาลูปและเมลอนมาวางขายริมถนน กล่าวว่า เมื่อก่อนตนและสามีไปขายแรงงานที่กรุงเทพมหานครมีรายได้ไม่แน่นอน ต่อมาได้ตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านเพราะอยากอยู่กับครอบครัว จึงได้ไปรับเมลอน และแคนตาลูปจากเกษตรกรใน ต.แสลงพัน ในราคากิโลกรัมละ 23-25 บาท มาขายต่อกิโลกรัมละ 35 บาท
“ปัจจุบันมีรายได้วันละ 2-3 พันบาท หากเป็นช่วงเทศกาลจะขายได้วันละกว่า 1 หมื่นบาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปขายแรงงานต่างถิ่นด้วย” นายอุไรกล่าว