น่าน - พ่อเมืองน่าน ผนึกพลัง 4 เส้า พร้อมเปิด 14 เมนูทางเลือก ฟื้นป่าเขียวให้เขาหัวโล้น หยุด “อีเวนต์ปลูกป่า” ที่ทำกันเพียง “เกณฑ์คนมาปลูก ถ่ายรูป จบงาน” ย้ำให้หยุดปลูกข้าวโพด คนต้องอยู่ได้ด้วย ได้ป่าคืนแล้ว คนต้องไม่อดตาย
วันนี้ (15 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ออกโรงท้าเกรียนคีย์บอร์ดร่วมปลูกป่าเมืองน่าน ที่เต็มไปด้วยเขาหัวโล้นกว่า 5 แสนไร่ เพราะถูกบุกรุก เพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนใหญ่ จนกลายเป็นเรื่องดรามาในโลกออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง
แต่ก็ทำให้คนทั้งประเทศหันมามอง “เขาหัวโล้นน่าน” อย่างตั้งอกตั้งใจ รวมทั้ง โจอี้ บอย-นักร้องดัง นายสุหฤท สยามวาลา ดีเจชื่อดัง และอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่ประกาศสมทบทุนช่วยปลูกป่าเมืองน่าน ปลุกพลังให้คนทั้งจังหวัดน่าน หันมาคุยเรื่องป่าอย่างจริงจัง และคุยกันแบบร่วมด้วยช่วยกัน แต่ละคน แต่ละหน่วยงาน แต่ละภาคส่วน หยิบยกงานที่เคยทำไว้เอาออกมากางบนโต๊ะ เปิดทรัพยากรที่มีอยู่บนหน้าตัก เปิดใจ และแบ่งปันกันเพื่อเป้าหมาย คืนป่าสีเขียว
เพราะการปลูกป่าน่านที่ผ่านมา เป็นได้เพียงงานอีเวนต์ (event) เกณฑ์คนมาปลูกถ่ายรูปแล้วก็จบ แม้จะมีการร่วมมือร่วมใจร่วมแรง รวมพลังกันหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็เป็นไปในลักษณะเฉพาะกิจ ภาคเอกชนที่เข้ามาทำ CSR เวลาบรรยายสรุปมีตัวเลขได้ป่าคืนจำนวนไม่น้อย แต่กลับไม่มีภาพเขาเขียวขจีที่เห็น
ทั้งนี้ โจทย์ใหญ่ของการฟื้นป่าเขียวให้เขาหัวโล้นเมืองน่าน คือ
1.ไม่ปลูกข้าวโพด จะให้ปลูกอะไรที่ปลูกแล้วได้เงินเร็วๆ มีตลาดรองรับแน่นอน ซึ่งล่าสุด หลายภาคส่วนได้หยิบยกให้สนับสนุนการกล้วย และไผ่ เป็นอันดับต้นๆ เพราะมีความสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนจับต้องได้ คือ การส่งเสริม และสนับสนุนของโครงการปิดทองหลังพระฯ ที่ช่วยให้ชุมชนบ้านทุ่งอ้าว ต.ทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ใช้เวลาว่างหลังทำนา ทำไร่ นำกล้วยน้ำว้า ที่ได้รับการส่งเสริมมาแปรรูปทอดขายส่งให้โรงงานสยามบาบาน่า สร้างรายได้เสริมกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน และยังมีออเดอร์รับได้อีกไม่จำกัด
ขณะที่ไผ่ เป็นพืชที่ขายได้ทุกส่วน ตั้งแต่หน่อ ลำ ใบ โดยมีตลาดรองรับทั้งใน และต่างประเทศโดยเฉพาะโรงงานแปรรูปทั้งในจังหวัดน่าน และจังหวัดแพร่ อย่างเช่นที่ อ.ลอง และ อ.เด่นชัย จ.แพร่ มีโรงงานแปรรูปไม้จิ้มฟัน และตะเกียบมากถึง 3,000 โรงงาน ซึ่งต้องใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบหลักสำคัญ นอกจากนี้ ไผ่ยังเป็นพืชที่จะสร้างความเขียวขจีให้แก่เขาหัวโล้นได้ในเวลาภายใน 1-2 ปี และยังดึงความชุ่มชื้นกลับคืนมาสู่ดินอันแห้งแล้งด้วยเป็นอย่างดี ซึ่งมีการทดลองที่เขาหัวโล้น อ.ท่าวังผา ในช่วงเวลาอันสั้น เขาหัวโล้นดินแห้งแล้งกลายเป็นป่าไผ่ที่ดินชุ่มน้ำได้
นอกจากนี้ ยังมี กาแฟ เมล่อน เลมอน พริกซูเปอร์ฮอต มะนาวตาฮิติ เสาวรส และอบเชย ซึ่งพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ล้วนเป็นที่ต้องการของตลาด โดยพริกซูเปอร์ฮอต และมะนาวตาฮิติ มีการส่งเสริมที่ อ.สองแคว จ.น่าน และดึงความร่วมมือกับบริษัทรับซื้อ สามารถส่งออกพริก และส่งมะนาวเข้าสู่ห้างแม็คโคร ที่มีออเดอร์รับไม่อั้นอีกเช่นกัน
2.โจทย์สำคัญอีกข้อ คือ พื้นที่เมืองน่านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ เกษตรกรต้องอยู่กับพื้นที่ทำกินที่ไม่ใช่ของตัวเอง แต่มันคือที่ดินของรัฐ ความไม่มั่นใจที่จะปลูกอะไรก็ตามแทนข้าวโพด แล้วจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หรือไม่
ประเด็นปัญหานี้ ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเจ้าภาพใหญ่อย่างกรมป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน กำลังระดมทุกช่องทางเพื่อหาทางออก ซึ่งล่าสุด มีความเป็นไปได้ใน 2 แนวทาง คือ ผลักดันตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน หรือตามมาตรา 19 คือ การใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้
ขณะที่ นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้บอกกล่าวแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจังหวัดน่านอย่างยั่งยืน และเปิด 14 เมนูทางเลือก ซึ่งเป็นความร่วมไม้ร่วมมือของผู้ประสานงาน 4 เส้า คือ ผู้ปลูก เป็นผู้ลงทุนปลูกป่า หน่วยงานรัฐ เป็นผู้อนุญาตให้ความสะดวก ชุมชนเป็นผู้เพาะกล้า รักษาดูแล และประชาสังคม เป็นผู้ประสานงานกลาง พร้อมกับมีผู้สนับสนุน 3 กลุ่ม คือ สื่อมวลชน กลุ่มโซเชียลมีเดีย และนักวิชาการที่คอยเผยแพร่ สะท้อนเสียงความคิดอย่างกว้างขวาง
นายสุวัฒน์ เปิดเผยว่า น่าน เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้แม่น้ำเจ้าพระยา ร้อยละ 45 โดยจังหวัดน่าน มีพื้นที่ทั้งหมด 7,601,880.49 ไร่ เป็นพื้นที่ราบเพียงร้อยละ 15 มีพื้นที่ป่าตามกฎหมาย 6,496,231.62 ไร่ หรือร้อยละ 85 ซึ่งแบ่งพื้นที่ได้เป็น 4 กลุ่ม
คือ 1.พื้นที่ป่าไม้สมบูรณ์ (ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์) เนื้อที่ 4,711,377.2 ไร่ (61.97%) 2.เป็นพื้นที่ทำกินใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า จำนวน 1,367,136.42 ไร่ (17.98%) ซึ่งในจำนวนป่าตรงนี้ยังแบ่งเป็นพื้นที่สิทธิทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่แจ้งการครอบครอง พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และพื้นที่อื่นๆ 3.พื้นที่ ส.ป.ก. เนื้อที่ 417,718 ไร่ (5.50%) และ 4.พื้นที่กรรมสิทธิ์รวมกับพื้นที่นอกเขตป่า และอื่นๆ รวมเนื้อที่ 1,105,648.89 ไร่ (14.54%)
สรุปตัวเลขกันแบบกลมๆ น่าน มีพื้นที่ทั้งหมด 7.6 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นอกเขตป่า 1.1 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าในเขตอุทยานฯ และป่าสงวน 6.5 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ คือ พื้นที่ป่าสมบูรณ์ 4.7 ล้านไร่ และพื้นที่ทำกินในป่าสงวนฯ 1.4 ล้านไร่ และจากพื้นที่ 1.4 ล้านไร่นี้ มีพื้นที่ที่ต้องการให้มีการปลูกป่าทดแทน 8.8 แสนไร่ ซึ่งขณะนี้เป็นการปลูกข้าวโพด และพืชไร่อื่นๆ ในพื้นที่ป่าสงวนฯ
จากจำนวนเนื้อที่เมื่อเปรียบเทียบกับอัตรากำลังพลเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 1 คน ต้องดูแลพื้นที่ป่ากว่า 40,000 ไร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสมากต่อปัญหาป่าเมืองน่านถูกบุกรุก เพราะมีตั้งแต่พวกมอดไม้ ลักลอบตัดไม้ และการแผ้วถางขยายพื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพด ซึ่งถือได้ว่าเป็นพืชวัฒนธรรมเมืองน่าน
ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องไม่ใช่แค่หน่วยงานใด หรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องช่วยกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่นจึงจะประสบความสำเร็จ เรียกคืนป่าสีเขียวกลับมาแทนเขาหัวโล้นสีน้ำตาลได้ และต้องเป็นทางการคืนป่าเขียวแบบที่คนต้องอยู่ได้ ไม่แยกชั้นกันคนออกจากป่าแบบที่ไม่สนใจว่า “ได้ป่าคืนแล้วคนจะอดตายหรือไม่”
นายสุวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการทำทางเลือกเพื่อป่าเมืองน่านไว้ 14 เมนูทางเลือก ซึ่งดำเนินการแบบประชารัฐ โดยทุกภาคส่วนมากกว่า 14 หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ร่วมกันออกแบบ และลงมือทำ ทั้งการฟื้นฟูอนุรักษ์น้ำ ป่า สร้างฝาย สร้างป่าเศรษฐกิจ และป่าใช้สอย พี่น้องและอาสาสมัครช่วยป้องผืนป่า โครงการปลูกไผ่ทดแทนการปลูกข้าวโพด ฯลฯ
ซึ่ง 14 เมนูทางเลือกนี้มีรายละเอียดของกิจกรรม และพื้นที่ดำเนินการ กลุ่ม หน่วยงานองค์กรที่รับผิดชอบชัดเจน และเป็นที่ขานรับของเกษตรกร คนในชุมชนป่าที่ผ่านกระบวนการทำความเข้าใจกันแล้ว รวมถึงเพื่อให้เป็นแนวทางของกลุ่มต่างๆ เอกชนต่างๆ ที่ต้องการเข้ามาปลูกป่าในพื้นที่จังหวัดน่าน สามารถเข้ามาเลือกกิจกรรมตามเมนูที่จัดไว้ได้ โดยจะมีทั้งหน่วยงานรับผิดชอบ และพื้นที่ปลูกชัดเจน จะทำให้การปลูกป่าเป็นระบบมากขึ้น ไม่ซ้ำซ้อน และมีการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ไม่กลายเป็นปลูกป่าอีเวนต์เหมือนที่ผ่านๆ มา
“เงินที่จะสนับสนุนลงมาจะไม่ผ่านมือของหน่วยงานภาครัฐ แต่ละส่งตรงไปยังกลุ่มชุมชน ซึ่งจะกลายเป็นคนดูแลป่า”
นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขอให้กลุ่มต่างๆ ที่จะเข้ามาปลูกป่าในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้เตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องกล้าไม้ การเดินทาง ที่พัก อาหาร ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น
“ได้โปรดเห็นใจว่า จังหวัดน่าน หน่วยงานในพื้นที่ หรือแม้แต่ชุมชนไม่ได้มีเงินงบประมาณในส่วนนี้ แต่ทางจังหวัดยินดีประสานงาน และอำนวยความสะดวกให้ในทุกๆ ด้าน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความพยายามฟื้นป่าเขียว แก้ปัญหาเขาหัวโล้นเมืองน่าน ที่ทุกฝ่ายกำลังร่วมมือกันจะสำเร็จ เป็นเมืองน่าน ที่มีป่าอยู่กับคนได้อย่างยั่งยืน”