เชียงใหม่/พิษณุโลก- ชลประทานเชียงใหม่ยัน “เขื่อนแม่งัด” ยังมีน้ำเหลือปล่อยลงน้ำปิงจนสิ้นแล้งแน่ หลังคนแห่แชร์น้ำปิงตอนใต้เป็นเหมือนทะเลทราย ขณะที่ “น้ำยมสายเก่า” อีกหนึ่งสายน้ำต้นเจ้าพระยาช่วงไหลผ่าน “บางระกำ” แห้งจริง เห็นท้องน้ำที่มีแต่ผืนดิน-ทรายยาวกว่า 20 กม. ชาวบ้านหวังฝนนี้มีน้ำเติมเต็ม
วันนี้ (11 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีการแชร์ภาพแม่น้ำปิงทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ในมุมสูงที่อยู่ในสภาพแห้งขอด ไม่มีน้ำแม้แต่หยดเดียวผ่านโลกออนไลน์ จนทำให้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงสภาพภัยแล้งลุ่มน้ำปิง 1 ใน 4 แม่น้ำสายหลักของต้นเจ้าพระยา ที่ยังคงทวีความรุนแรง แม้จะผ่านพ้นวันพืชมงคล ที่ถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นเข้าสู่หน้าฝนแล้วก็ตาม
ต่อมา วันที่ 9 พ.ค. นายจารุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ได้ออกมาชี้แจงว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพจากการบินสำรวจสภาพแม่น้ำปิงของชลประทาน หลังจากมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ลงสู่แม่น้ำปิง ตามแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงสัปดาห์เศษที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทางตอนใต้ของเชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งก่อนหน้านี้ ชาวบ้านใน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ก็แย่งน้ำจนเกิดความขัดแย้งขึ้น
(http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000041470)
นายจารุวัตร บอกด้วยว่า ซึ่งภาพที่มองเห็นว่ามีแต่ทรายไม่มีน้ำเลยนั้น ความจริงแล้วสภาพของแม่น้ำปิง ก่อนจะถึงชั้นดินดานจะเป็นชั้นทรายที่มีความหนาแตกต่างกัน และในชั้นทรายจะมีน้ำไหลอยู่เรียกว่าน้ำชั้นทราย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะจะไม่ทำให้น้ำระเหย และสามารถมีน้ำไหลไปเรื่อยจนถึงท้ายลำน้ำ
ทั้งนี้ จากการบินสำรวจจะพบว่า ลำน้ำปิงจะมีแอ่งต่างๆ อยู่ตลอดลำน้ำ รวมทั้งบริเวณท่าดูดทราย ซึ่งหลังจากมีการปล่อยน้ำประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำสามารถไหลผ่านในชั้นทรายบางส่วน และคาดว่าจะไปถึง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และขณะนี้ ทางชลประทานมีแนวคิดว่าจะเชื่อมแอ่งน้ำต่างๆ เพื่อดึงน้ำไปใช้ในการผลิตประปาได้ และขอให้เชื่อมั่นว่า ในช่วงสถานการณ์ภัยแล้งอีกประมาณ 1 เดือน ทางชลประทานจะบริหารจัดการน้ำได้
ล่าสุด เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่หล่อเลี้ยงแม่น้ำปิงเหลือน้ำต้นทุนประมาณ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการบริหารจัดการอีก 6 รอบเวรที่ต้องใช้น้ำประมาณ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังเหลืออีก 9 ล้านลูกบาศก์เมตร ในกรณีที่เกิดวิกฤตรุนแรง
แต่สำหรับแม่น้ำยมสายเก่า ที่ไหลมาจากจังหวัดสุโขทัย ผ่านตัว อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก วันนี้อยู่ในสภาพแห้งสนิท ไม่มีน้ำเลยตลอดระยะทางยาวไม่ต่ำกว่า 20 กม.อย่างแท้จริง ทำให้ชาวบ้านหลายรายต้องใช้วิธีขุดเจาะบ่อบาดาลกลางแม่น้ำยมมาใช้ในชีวิตประจำวัน จากนั้นแม่น้ำยมสายนี้ก็จะไหลเข้าสู่ จ.พิจิตร และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ ต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อถึงฤดูแล้งในทุกๆ ปีแม่น้ำยม จะแห้งขอดแต่ไม่แห้งสนิท และแห้งยาวเหมือนปีนี้ ซึ่งชาวบ้านหวังว่า ในฤดูฝนนี้จะมีน้ำมาหล่อเลี้ยงแม่น้ำยมเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำทางการเกษตรบ้าง ถึงแม้ว่าแต่ละครัวเรือนจะลงสูบน้ำบาดาลมาใช้เองกันแล้วก็ตาม