xs
xsm
sm
md
lg

แล้งหนักรอบ 30 ปี! พ่นพิษสวนยาง-ไร่อ้อย-มันฯ สตึก บุรีรัมย์แห้งตายกว่า 500 ไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แล้งหนักในรอบ 30 ปี พ่นพิษสวนยางพารา อ้อยและมันสำปะหลัง เกษตรกร อ.สตึก บุรีรัมย์ ยืนต้นแห้งตายสิ้นเชิงกว่า 500  ไร่ คาดสูญหลายล้านบาท วันนี้ ( 4 พ.ค.)
บุรีรัมย์ - แล้งหนักในรอบ 30 ปี พ่นพิษสวนยางพารา อ้อย และมันสำปะหลังของเกษตรกร อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ยืนต้นแห้งตายสิ้นเชิงกว่า 500 ไร่ คาดสูญหลายล้านบาท วอนหน่วยงานภาครัฐเร่งเข้ามาสำรวจช่วยเหลือ จ่ายเงินชดเชยผลผลิตที่เสียหาย และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อน

วันนี้ (4 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งยังคุกคามอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ส่งผลกระทบสวนยางพาราของเกษตรกรบ้านโศกคลอง ม.18 ต.ร่อนทอง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ อายุตั้งแต่ 2-8 ปี ทั้งที่เปิดกรีดและยังไม่ได้เปิดกรีด ขาดน้ำยืนต้นตายกว่า 100 ไร่ จากที่ปลูกทั้งหมู่บ้านกว่า 200 ไร่

ทั้งนี้ จากสภาพความแห้งแล้งและอากาศที่ร้อนจัดยังส่งผลให้ไร่อ้อย และมันสำปะหลังของเกษตรกรในหมู่บ้านโศกคลองดังกล่าวแห้งตายเสียหายอีกกว่า 400 ไร่ เป็นพืชทั้ง 3 ชนิด ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ที่ได้รับผลกระทบแห้งตายเสียหายสิ้นเชิงแล้วกว่า 500 ไร่

สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรต้องประสบปัญหาขาดทุนหลายล้านบาท และคาดว่าหากยังไม่มีฝนตกลงมาหล่อเลี้ยงภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ทั้งยางพารา อ้อย และมันสำปะหลังจะแห้งตายเสียหายเพิ่มอีก

จากกรณีดังกล่าวเกษตรกรจึงอยากเรียกร้องให้ทางจังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งเข้ามาสำรวจช่วยเหลือเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งหนักอยู่ในขณะนี้ด้วย

นายสมศรี ทองหล่อ เกษตรกรบ้านโศกคลอง กล่าวว่า ปีนี้ประสบปัญหาแล้งหนักที่สุดในรอบ 30 ปี จนทำให้ต้นยางที่ปลูกไว้ได้ 6 ปีใกล้จะเปิดกรีดกว่า 4 ไร่ หรือประมาณ 300 ต้น ยืนต้นแห้งตายเสียหายมากกว่า 200 ต้น ทำให้ต้องประสบปัญหาขาดทุน และหากภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ต้นยางที่เหลือยืนต้นแห้งตายก็จะเสียหายเป็นวงกว้าง

จึงอยากวิงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาสำรวจช่วยเหลือ โดยการจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และขุดลอกเขื่อนหรือฝายในพื้นที่เพื่อให้มีน้ำทำการเกษตรได้โดยไม่ประสบภัยแล้งซ้ำอีก

ขณะที่นายรังสรรค์ กะการดี ผู้ใหญ่บ้าน ม.18 บ้านโศกคลอง ต.ร่อนทอง บอกว่า จากภาวะภัยแล้งและสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ส่งผลให้สวนยางพารา ไร่อ้อย และมันสำปะหลังของเกษตรกรในหมู่บ้านยืนต้นแห้งตายเสียหายสิ้นเชิงที่ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้กว่า 500 ไร่ ทำให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาขาดทุนและเสียโอกาสจากการเก็บผลผลิตออกขายหลายล้านบาท จากผลกระทบดังกล่าวจึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาตรวจสอบช่วยเหลือทั้งระยะสั้น และระยะยาวด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น