ฉะเชิงเทรา- มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง-น้ำดอกไม้เบอร์ 4 เมืองแปดริ้ว ยังสดใส เตรียมพัฒนามะม่วงอีกหลากหลายสายพันธุ์ให้ติดตลาดส่งออก ทั้งด้านคุณภาพของผลผลิต และกระบวนการผลิต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในตลาดต่างประเทศ
วันนี้ (30 เม.ย.) นายรณชัย วิรุฬห์รัฐ พาณิชย์จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกมะม่วง ของ จ.ฉะเชิงเทรา ในปีนี้ว่า ตลาดด้านการส่งออกมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรา ยังมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี จากสถิติเดิมที่เคยส่งออกได้เพียงปีละประมาณ 2 หมื่นตัน ขณะนี้ลำดับการส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี จนถึงปัจจุบันเมื่อปลายปี 2558 การส่งออกมะม่วงสามารถส่งออกได้มากถึง 65,000 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออกได้ถึงปีละกว่า 3 พันล้านบาท
โดยการส่งออกมะม่วงนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการส่งออกแบบมะม่วงสด มะม่วงอบแห้ง มะม่วงแช่แข็ง และมะม่วงที่บรรจุภาชนะที่อากาศผ่านเข้าออกไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยนั้นถือเป็นผู้ผลิต และส่งออกมะม่วงเป็นลำดับที่ 9 ของโลก รองจากประเทศเม็กซิโก อินเดีย บราซิล ปากีสถาน ซึ่งปัจจุบันนั้นเรามีส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 จากมูลค่าการส่งออกมะม่วงในตลาดโลกทั้งหมดอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท และอนาคต มะม่วง ยังมีสถานการณ์สดใส เพราะมีมูลค่าของการผลิต และโอกาสของการส่งออกที่ยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี หากมีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
นายรณชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ตลาดมะม่วงภายในประเทศเองนั้นก็ยังคงมีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นเดียวกัน โดยเกษตรกรสามารถนำผลผลิตออกมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคได้ตลอดทั้งปีในราคาที่สูง และไม่มีปัญหาในด้านราคาจำหน่ายในตลาด เพราะปัจจุบัน เกษตรกรสามารถกระจายผลผลิตมะม่วงได้เกือบทุกเดือน หรือเกือบตลอดทั้งปี หลังจากที่มีการผลิตมะม่วงนอกฤดูกาลได้ ทำให้ไม่เกิดการจะจุกตัวของผลผลิตในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ส่งผลทำให้ราคาที่เกษตรกรขายได้นั้นสูงขึ้นตามไปด้วย
สำหรับผลผลิตมะม่วงโดยรวมทั้งประเทศนั้น เกษตรกรสามารถผลิตได้ถึงปีละประมาณกว่า 3 ล้านตัน แต่ปัจจุบัน เรายังสามารถส่งออกได้เพียงร้อยละ 2 หรือประมาณ 6 หมื่นกว่าตัน ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 98 นั้น ยังใช้ในการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่เกษตรกรของเราเองนั้นยังได้มีการพัฒนาทั้งในด้านคุณภาพของผลผลิต และวิธีการจัดการในกระบวนการผลิตจึงทำให้ผลผลิตสามารถขายได้ตลอดทั้งปี
ด้าน นายมานพ แก้ววงษ์นุกูล เกษตรกรผู้ผลิตมะม่วงส่งออก และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออก จ.ฉะเชิงเทรา ที่ปรึกษาสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย กล่าวว่า การส่งออกมะม่วงในปี 2559 นี้ดีมาก และสามารถส่งออกได้อย่างยาวนานกว่าในทุกๆ ปี เพราะบริษัทผู้ส่งออกยังมีความต้องการมะม่วงสูงมาก และยังบอกต่อทางเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วงว่า นับตั้งแต่เดือน เม.ย.59 นี้เป็นต้นไป จะมีความต้องการมะม่วงส่งออกเพิ่มขึ้นอีก แสดงว่าตลาดต่างประเทศในปีนี้ไปได้ค่อนข้างดีมาก
สำหรับการส่งออกมะม่วงตั้งแต่ในช่วงต้นปี จนถึงเดือน เม.ย.ปีนี้ ในส่วนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกเองนั้น ได้มีสัญญาจำหน่ายมะม่วงให้แก่ผู้ส่งออก จำนวน 3 ราย มียอดการสั่งซื้อ จำนวน 700 ตัน และยังจะมีการสั่งซื้อเพื่อส่งออกต่อเนื่องไปจนถึงในช่วงเดือน มิ.ย.59 ซึ่งคาดว่าการส่งออกม่วงในปีนี้จะเพิ่มมากขึ้นไปกว่าในปีที่ผ่านมาอีก หรืออาจมากกว่า 800 ตัน
นายมานพ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออก จ.ฉะเชิงเทรา นั้น ปัจจุบัน มีสมาชิกที่ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก จำนวน 50 ราย บนเนื้อที่ประมาณ 3 พันไร่ ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกหลายชนิด โดยเฉพาะมะม่วงสุก คือ น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้เบอร์ 4 และมหาชนก ส่วนมะม่วงดิบก็จะมี มะม่วงแรด เขียวเสวย ฟ้าลั่น โดยประเทศเวียดนามนั้นต้องการฟ้าลั่น และเขียวเสวยในปริมาณมาก สำหรับตลาดส่งออกหลักในปัจจุบันนี้ คือ เกาหลี และญี่ปุ่น ที่ต้องการมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และน้ำดอกไม้เบอร์ 4
ส่วนประเทศจีน มาเลเซีย นั้นส่วนใหญ่ยังต้องการฟ้าลั่น เขียวเสวย ด้วยเช่นกัน โดยมะม่วงไทยนั้นตลาดยังไปได้อีกไกล โดยสายพันธุ์มะม่วงของเรานั้นค่อนข้างโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้ประเทศอื่นๆ หรือคู่แข่งขันอื่นๆ มีน้อยประเทศมากที่จะแซงหน้าเราได้ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ของเรา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมากที่สุด และเป็นมะม่วงที่ดีที่สุด จนมีต่างประเทศเคยมาเอาพันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้ของเราไปปลูก แต่ผลผลิตก็ยังสู้ของเราไม่ได้ รวมถึงมะม่วงไทยอีกหลายสายพันธุ์ที่ต่างประเทศเคยมาเอาไปปลูกด้วย แต่ผลผลิตที่ได้ออกมาก็ยังสู้การปลูกภายในประเทศไทยไม่ได้เช่นกัน
“เชื่อว่าส่วนหนึ่งนั้นอาจจะอยู่ที่ภูมิปัญญาของผู้ปลูกมะม่วงเอง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วง จ.ฉะเชิงเทรา นั้น ไม่ว่าจะไปปลูกที่ใดก็ตามก็ยังสามารถที่จะปลูกมะม่วงได้ดีกว่า เพราะมีความชำนาญมากกว่า อีกทั้งกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงยังมีความเข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มอบรมประชุมแลกเปลี่ยนความรู้กันอยู่ตลอดเวลา จนสามารถตั้งเป็นสมาคมชาวสวนมะม่วงไทยขึ้นมาได้ และมีการถ่ายทอดความรู้ถึงเทคนิค และวิธีการในการผลิตมะม่วงให้ได้คุณภาพเท่าเทียมกันทั้งประเทศ และสามารถผลิตมะม่วงป้อนตลาด หรือส่งออกมะม่วงได้ตลอดทั้งปี” นายมานพ กล่าว
นายมานพ กล่าวว่า มะม่วงไทยเรานั้นมีชื่อเสียงเป็นที่ต้องการของผู้ส่งออกมาก เนื่องจากประเทศอื่นๆ นั้นสามารถผลิตมะม่วงได้เพียงช่วงเดียว ระยะ 2-3 เดือน แต่มะม่วงของไทยเรา สามารถผลิต และส่งออกได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากภูมิอากาศของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสมที่จะผลิตมะม่วงได้ทั่วประเทศในทุกๆ ภาค โดยหมุนเวียนกันผลิตตามความเหมาะสมของสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ เช่น ในภาคเหนือนั้นจะผลิตมะม่วงได้ก่อน จากนั้นจึงมายังภาคตะวันออก ต่อไปยังภาคอีสาน ก่อนลงไปยังทางภาคใต้ โดยจะหมุนเวียนกันผลิตได้ในทุกภาคจนตลอดทั้งปีพอดี
สำหรับภาคตะวันออก ที่ จ.ฉะเชิงเทรานั้น สามารถผลิตมะม่วงได้ตั้งแต่ช่วงของเดือน พ.ย.จนถึง พ.ค.ของทุกปี จากนั้นเดือน มิ.ย.-ก.ค.ที่เชียงใหม่ จึงเริ่มผลิตมะม่วงได้ ส่วนทางภาคอีสานที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จะเริ่มผลิตได้ในช่วง ส.ค.-ก.ย. ส่วน ก.ย.-ต.ค. ทางภาคใต้ เช่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงจะเริ่มผลิตได้ จึงทำให้การผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกนั้นหมุนวนเวียนกันได้ตลอดทั้งปี โดยที่ไม่ขาดไปจากตลาดเลย ฉะนั้นสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทยจึงเหมาะสมมากที่จะผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกได้ดีที่สุดในโลกก็ว่าได้
นายมานพ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออกที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น ถือเป็นต้นแบบของเกษตรกรทั่วประเทศที่มักจะเดินทางมาศึกษาดูงาน และนำไปปรับปรุงคุณภาพการผลิตมะม่วงของตนเองตามจังหวัดต่างๆ เนื่องจากการผลิตมะม่วงที่ฉะเชิงเทรา ถือว่าเกษตรกรประสบความสำเร็จ และมีความเข้มแข็งมานานถึงเกือบ 20 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ทั้งในด้านของการจัดการ และเทคโนโลยีในการผลิต การบังคับให้มะม่วงออกผลผลิตได้ตามต้องการ
ขณะนี้การผลิตมะม่วงนั้นทำได้ง่ายขึ้นมากกว่าในสมัยอดีต เช่น การวางแผนการผลิตมะม่วงในภาพรวมของเกษตรกรทั้งประเทศ ให้สามารถบังคับมะม่วงออกผลผลิตได้ต่างช่วงฤดูกาลกัน เพื่อไม่ให้ผลผลิตออกมาชนกันจนล้นตลาด และเป็นสาเหตุทำให้ราคาตกต่ำ จากการบริหารจัดการ การผลิตมะม่วงในภาพรวมเป็นระบบทั้งประเทศ จึงทำให้เกษตรกรขายมะม่วงได้ราคาค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้ราคาขายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ขายภายในประเทศได้ราคา กก.ละ 40-50 บาท ส่วนราคาส่งออกในช่วงต้นฤดูกาลปีนี้ขายได้ 110 บาทต่อ กก.