xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายประชาชนภาคเหนือยื่น “ประยุทธ์” ดันปัญหาฝุ่นควันเป็นวาระแห่งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายอาสาประชาชนภาคเหนือสู้ภัยฝุ่นควัน นำ 18,000 รายชื่อ ยื่นหนังสือนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือเป็นวาระแห่งชาติ หลังต้องเผชิญปัญหาวิกฤตต่อเนื่องยาวนานเกินสิบปี ส่งกระทบสุขภาพผู้คนและก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

วันนี้ (27 เม.ย. 59) ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์สำนักนายกรัฐมนตรี บริเวณอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษระหว่างที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2559 คณะทำงานเครือข่ายอาสาประชาชนภาคเหนือสู้ฝุ่นควัน นำโดย นายวิทยา ครองทรัพย์ อดีตรองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนเครือข่าย เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชน 18,000 รายชื่อที่ลงชื่อสนับสนุน ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือเป็นวาระแห่งชาติ

โดยระบุว่า ภาคเหนือประสบปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นควันต่อเนื่องมาเกินสิบปี และยังไม่สามารถแก้ไขได้ ในฤดูแล้งของปี พ.ศ. 2559 ดัชนีมลพิษทางอากาศหลายพื้นที่ในภาคเหนือพุ่งสูงขึ้นถึงจุดวิกฤต สถิติการเผาในที่โล่งตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งเขตป่าและแปลงเกษตรกรรมยังมีสูงมาก และมีแนวโน้มจะวิกฤตมากขึ้น แม้ว่าทางราชการจะมีมาตรการออกมามากมายก็ตาม ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวและความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการแก้ไขปัญหานี้

ทั้งนี้ นายวิทยา บอกว่า เครือข่ายอาสาประชาชนภาคเหนือสู้ภัยฝุ่นควัน ประกอบด้วย ประชาชนทุกเชื้อชาติ ศาสนา พ่อค้า นักธุรกิจ นักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ทุกสถาบัน ข้าราชการทุกหมู่เหล่า ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเสี่ยงต่อสุขภาพ การสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ งบประมาณที่ควรจะถูกนำไปพัฒนาประเทศ ฯลฯ จึงร่วมลงชื่อกัน เรียกร้องให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควัน ดังนี้

1. ประกาศให้การแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือเป็นวาระแห่งชาติ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการและการเอาจริงเอาจังอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้มีคณะทำงานประชารัฐเพื่อแก้ปัญหาในแต่ละจังหวัดที่ประสบวิกฤตฝุ่นควัน เพราะสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน

2. ให้มีการศึกษาข้อเท็จจริงของสาเหตุการเกิดฝุ่นควัน ผลกระทบ และการแก้ไขอย่างจริงจังรอบด้าน, การทบทวนนโยบายการเกษตรในพื้นที่สูง, การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ฯลฯ เพื่อให้สามารถยุติวิกฤตฝุ่นควันที่สร้างความทุกข์แก่ประชาชนภาคเหนือมายาวนาน

3. ปรับปรุงการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) และเกณฑ์การแจ้งเตือนภัยฝุ่นควันให้เป็นไปตามอารยประเทศ เพื่อให้มีความถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์จริง โดยคำนึงถึงสุขภาพประชาชนเป็นหลัก และ 4. ให้มีการประกาศเป้าหมายการแก้ไข เป็นสัญญาประชาคมว่ารัฐบาลจะขจัดวิกฤตฝุ่นควันให้สำเร็จภายใน 10 ปี





กำลังโหลดความคิดเห็น