ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทุ่ม 44 ล้านบาทหนุน ม.เชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเครือข่าย ลุยโครงการ “ประเทศไทยไร้หมอกควัน” นำร่องงานวิจัยระบบ Fast Track หวังเห็นผลแก้ไขปัญหาชัดเจนเป็นรูปธรรม รวดเร็ว และยั่งยืน เผยผลวิจัย มช.ที่ผ่านมาชี้ปัญหาหมอกควันทำเชียงใหม่สูญเสียปีละ 10,000 ล้านบาท ทั้งจากผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่เจ็บป่วยต้องจ่ายเงินรักษาพยาบาล และเศรษฐกิจท่องเที่ยวซบเซา
วันนี้ (26 เม.ย. 59) ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานแถลงข่าวโครงการ “ประเทศไทยไร้หมอกควัน” (Haze Free Thailand) โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ, รองศาสตราจารย์นายแพทย์อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายบริการ พัฒนาสังคม ศิลปวัฒนธรรม และกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายวิจารณ์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องร่วมด้วย
โดยโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand)นั้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนงบประมาณวิจัย 44 ล้านบาท ให้เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยกลุ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารภัยพิบัติ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของ 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการทำงานวิจัยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหมอกควันและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะหมอกควันภายในประเทศไทย
รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ประเทศไทยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว และผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมลพิษโดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ซึ่ง วช.เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นและสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 อย่างไรก็ตามเนื่องจากงานวิจัยที่ผ่านมาเป็นแบบไม่ต่อเนื่อง ทำให้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาในภาพรวมได้
ทั้งนี้ ทาง วช.และครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ(คอบช.) จึงเห็นควรให้การสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ภายใต้ทุนวิจัยโครงการท้าทายไทย ในหัวข้อ “ประเทศไทยไร้หมอกควัน” (Haze Free Thailand) โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นแกนนำ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหา ด้วยความหวังว่าในที่สุดโครงการนี้จะสามารถช่วยลดปัญหาหมอกควันในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ขณะที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2559 เป็นปีแรกที่ วช.ให้ทุนแนวใหม่ที่นอกเหนือจากงานวิจัย มุ่งเป้าใน 25 เรื่อง เช่น โครงการท้าทายไทย ซึ่งโครงการ“ประเทศไทยไร้หมอกควัน” (Haze Free Thailand) ก็อยู่ภายใต้โครงการนี้ด้วย โดยมีการบริหารทุนวิจัยในลักษณะโครงการความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรเพื่อการวิจัย ท่าต้องการงานวิจัยที่มีผลกระทบสูง เกิดประโยชน์ชัดเจน เป็นเสมือน Fast Track ที่มีระยะเวลาวิจัยไม่ถึง 5 หรือ 10 ปี ซึ่งโครงการ “ประเทศไทยไร้หมอกควัน” นี้ถือเป็นงานวิจัยนำร่องการให้ทุนในลักษณะนี้ ที่ วช.คาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จด้วยดีและเป็นโครงการตัวอย่างให้กับโครงการอื่นๆ ต่อไป
ด้านรองศาสตราจารย์นายแพทย์อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายบริการ พัฒนาสังคม ศิลปวัฒนธรรม และกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายมหาวิทยาลัย มีความพร้อมที่จะทำงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาตามโครงการนี้ โดยที่ผ่านมาในส่วนของ มช.มีงานวิจัยที่พบว่าปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลกระทบอย่างมากและชัดเจนใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ ผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งคณะแพทยศาสตร์และศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. ศึกษาพบว่า ในระยะสั้นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มาพร้อมกับปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง และตา ขณะที่ระยะยาวมีผลต่อพัฒนาการของเด็กเล็ก เพิ่มอัตราเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง และมะเร็งปอดด้วย
นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ มช.พบว่า ปัญหาหมอกควันยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่เกิดปัญหาขึ้น ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และธุรกิจเกี่ยวเนื่องคิดเป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันจากผลกระทบต่อสุขภาพทำให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลอีกหลายพันล้านบาทด้วย ซึ่งรวมแล้วทำให้จังหวัดเชียงใหม่เกิดความสูญเสียคิดเป็นเงินมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ สาเหตุหลักของปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยวจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการขยายพื้นที่ปลูกต่อเนื่องเป็นวงกว้างและกำจัดวัสดุเหลือใช้ด้วยการเผา ซึ่งงานวิจัยตามโครงการนี้จะมุ่งแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเชื่อว่าในที่สุดจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ในเร็ววันนี้