xs
xsm
sm
md
lg

ลุยสร้าง! “อัจฉริยะออทิสซึม” สาธิต มข.ระดมสมองครั้งใหญ่เปิดโลกออทิสติก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ศูนย์วิจัยออทิสติก มข. จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ เปิดโลกออทิสติก ระดมสมองแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษ หวังช่วยกันสร้าง “อัจฉริยะออทิสซึม” เผยตัวเลขเด็กออทิสติกมีแนวโน้มเพิ่ม เฉพาะภาคอีสานเท่าที่เปิดเผยมีมากกว่า 4,000 คน

อ.พรมณี หาญหัก รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายการศึกษาพิเศษ (ศูนย์วิจัยออทิสติก) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยออทิสติก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับภาคีเครือข่ายการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะออทิสซึมจังหวัดขอนแก่น กำหนดจัดประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติ เปิดโลกออทิสติก ครั้งที่ 10 ภายใต้หัวเรื่อง 4 กลไกหลักตามออทิสติกโรดแมป เพื่อสร้างอัจฉริยะออทิสซึม โดยงานจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 27 เม.ย.นี้ ที่คณะศึกษาศาสตร์ มข.

การจัดงานเปิดโลกออทิสติกดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการให้ความช่วยเหลือบุคคลออทิสติกให้แก่ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร นักสหวิชาชีพ และบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข ตลอดจนผู้ที่มีความสนใจทั่วไป และจะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก อันจะนำไปสู่การผลักดัน และกระตุ้นให้เกิดการช่วยเหลือบุคลที่มีภาวะออทิสซึมแบบบูรณการ ด้วย 4 กลไกหลักตามออทิสติกโรดแมป

ภายในงานจะมีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในระดับนานาชาติ เพื่อให้สอดคล้องต่อการเริ่มเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งได้เชิญ Pro.Dr.Marie-Pierre Fortier ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเรียนรวม จากมหาวิทยาลัยควิเบค ประเทศแคนนาดา เป็น Keynote Speaker ในหัวข้อ “Inclusive Education : Successful of Integration Autistic Spectrum Disorder into Inclusive classes in Canada”

นอกจากนี้ ยังได้เชิญวิทยากรผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ การศึกษา การพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลที่มีภาวะออทิสซึมในระดับประเทศของเมืองไทย มาร่วมเสวนาในช่วงเช้า และให้ความรู้ในห้องสัมมนาย่อยในช่วงบ่าย

“กลุ่มเป้าหมายในการเข้าร่วมประชุมสัมมนาจะประกอบด้วย บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลบุคคลออทิสติกจากหน่วยงานทางการแพทย์ และสาธารณสุข บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง นิสิตนักศึกษา ตลอดจนประชาชนผู้ที่สนใจในทุกภูมิภาคตลอดจนชาวต่างประเทศ” อ.พรมณี กล่าวและว่า

สำหรับกลุ่มบุคคลออทิสติก หรือเด็กออทิสติกนั้นไม่ถือว่าเป็นผู้พิการ เรียกกันว่าเด็กพิเศษมากกว่า เพราะเด็กที่มีอาการดังกล่าวจำนวนไม่น้อยที่มีความสามารถพิเศษ หรือมีไอคิวสูง บางคนมีความเป็นเลิศด้านภาษาอังกฤษ บางคนเก่งด้านคณิตศาสตร์ หรือบางคนก็เรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์ได้เร็วมากกว่าเด็กปกติ ดังนั้น การดูแลการบำบัดเด็กออทิสติกเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ปกครอง หรือครูบาอาจารย์ต้องไม่มองข้ามเพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนาส่งเสริมเด็กกลุ่มนี้ให้ถูกจุด

ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยออทิสติก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีเด็กออทิสติกในความดูแล 17 คน ทั้งหมดเรียนร่วมชั้นกับเพื่อนนักเรียนปกติ แต่ทางศูนย์จะจัดอาจารย์ หรือผู้เชี่ยวชาญให้การดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งพัฒนาการของแต่ละคนก็เป็นที่น่าพอใจ ล่าสุด มีเด็กออทิสติกของศูนย์ฯ สามารถสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ 2 คน สอบได้ในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ภาควิชาภาษาจีนธุรกิจและพัฒนาสังคม

“แนวโน้มตัวเลขเด็กออทิสติกในไทยยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า เด็กคลอดออกมาแล้วมีอาการออทิสติกมีสาเหตุจากปัจจัยใด เฉพาะภาคอีสานเท่าที่ทราบเบื้องต้น มีเด็กออทิสติกประมาณ 4,000 คน ยังไม่นับรวมกับเด็กออทิสติกที่ไม่ได้รับการเปิดเผยอีกจำนวนหนึ่ง” อ.พรมณี ให้ความเห็น

ด้าน อ.พวงทอง พูลเรือง ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครอง หรือครูต้องมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลเด็กออทิสติก หากมีความเข้าใจในอาการของเด็กพิเศษกลุ่มนี้แล้วจะช่วยส่งเสริมให้พวกเขามีพัฒนาการการเรียนรู้ตามความสามารถที่เขามีอยู่ได้เร็วขึ้น หลายคนถึงขั้นได้เป็นอัจฉริยะออทิสซึม

สำหรับศูนย์วิจัยออทิสติก คณะศึกษาศาสตร์ มข.ได้ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 12 ปี ทำการศึกษาค้นคว้ารูปแบบการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในระดับอนุบาล ประถม มัธยม และระดับอุดมศึกษา รวมทั้งถ่ายโอนสู่การอาชีพ และโรงเรียนอื่นนอกรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากได้รับการช่วยเหลืออย่างเข้มข้นภายในศูนย์วิจัยออทิสติก

หลังจากมีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการคณะศึกษาศาสตร์ และการออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์วิจัยออทิสติกปัจจุบันจึงพัฒนามาเป็นโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายการศึกษาพิเศษ และเพื่อขยายงานด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษาให้แก่ประชากรออทิสติกกลุ่มดังกล่าวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น การขับเคลื่อนด้วย 4 กลไกหลักตามออทิสติกโรดแมป จึงเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนออทิสติกที่มีประสิทธิภาพ

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความพร้อมในทุกๆ ด้านที่จะขับเคลื่อนกลไกทางการศึกษาให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทางการศึกษาที่สอดคล้องต่อความต้องการจำเป็นของแต่ละบุคคลที่มีประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น