xs
xsm
sm
md
lg

งามแต๊! ทั้ง นร.-คนเฒ่าคนแก่ ร่วมแข่งประดิษฐ์หมากสุ่ม-หมากเบ็ง “ปี๋ใหม่เมืองลำพูน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำพูน - นักเรียนและประชาชนชาวลำพูนพร้อมใจร่วมการประกวดประดิษฐ์ “ต้นผึ้ง, ต้นดอก, หมากสุ่ม, หมากเบ็ง” ที่ใช้ในการรดน้ำดำหัวมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ในงานประเพณีปี๋ใหม่เมืองหละปูน ประจำปี 2559 คึกคัก

วันนี้ (11 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศบาลเมืองลำพูนได้จัดกิจกรรมการประกวดประดิษฐ์ ต้นผึ้ง ต้นดอก หมากสุ่ม หมากเบ็ง ในเทศกาลสงกรานต์ตามประเพณีทางภาคเหนือขึ้นที่วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร โดยมีนักเรียนและประชาชนทั่วไปสนใจเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมาก

ในการประกวดนั้นจะแบ่งเป็นระดับนักเรียน และประชาชนทั่วไป จัดเป็นกลุ่มๆ ละ 2 คน ขึ้นไป และใช้วัสดุจากธรรมชาติทั้งหมดในการประดิษฐ์ โครง-ฐานทำจากหยวกกล้วย มีความคงทน แข็งแรง เส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 12 นิ้ว มีการแกะสลักและตกแต่งอย่างสวยงาม โดยใช้ดอกไม้สดประดับตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ สุ่มดอก, หมากสุ่ม, หมากเบ็ง, ต้นผึ้ง,ต้นเทียน เป็นเครื่องสักการบูชาของชาวล้านนา เพื่อการบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรืออาจใช้คารวะบุคคลผู้มียศศักดิ์ ครู อาจารย์ และผู้ที่นับถือ โดยเฉพาะในพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ “สุ่มดอก ต้นดอก หรือหลักบายศรี” เป็นเครื่องสักการบูชาที่ใช้ใบไม้ ดอกไม้ ตกแต่งคล้ายกับบายศรี ทำรูปลักษณะเหมือนกรวย หรือเป็นพุ่ม

ส่วนหมากสุ่ม คือ การนำผลหมากที่ผ่าซีกแล้วเสียบร้อยด้วยปอ หรือด้ายผูกไว้เป็นพวงตากแห้งเก็บไว้กิน ซึ่งคนทางเหนือเรียก “หมากไหม” มาปักคลุมโครงไม้หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นต้นพุ่มไว้, หมากเบ็ง มีลักษณะเดียวกับหมากสุ่ม แต่ใช้ผลหมากดิบหรือหมากสุกทั้งลูกแทน มีจำนวน 24 ลูก ผูกติดตรึงโยงไว้กับโครงไม้หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นพุ่ม ลักษณะการผูกโยงตรึงกันนี้ คนเหนือเรียกว่า “เบ็ง”

ขณะที่ “ต้นผึ้ง” จะทำถวายเพื่อให้พระสงฆ์นำไปทำเป็นเทียน โดยนำขี้ผึ้งมาปั้นเป็นลูกๆ หรือสลักเป็นดอก หรือเข้าแบบ โดยใช้ก้นมะละกอดิบที่ปอกเปลือกแล้วจุ่มลงในขี้ผึ้งที่นำมาละลาย ก่อนยกจุ่มในน้ำเย็น ก็จะได้ดอกผึ้งหลุดล่อนออกมา แล้วนำไปประดับยังหยวกกล้วยที่ตัดเป็นเสมือนต้นไม้ให้กลายเป็นต้นผึ้งสวยงาม

อนึ่ง เทศบาลเมืองลำพูนได้จัดงานประเพณีปี๋ใหม่เมืองหละปูน ประจำปี 2559 ระหว่างวันที่ 11-13 เม.ย. และวันที่ 16 -18 เม.ย. 2559 ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเชิงสะพานท่าขาม จ.ลำพูน โดยจัดในรูปแบบของการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น รณรงค์ ให้เยาวชน ประชาชนเล็งเห็นความสำคัญของประเพณีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของบรรพบุรุษ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดี ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดลำพูนด้วย







กำลังโหลดความคิดเห็น