xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เฒ่าแห่งเมืองเวียงชัยไม่ง้อภาครัฐใช้ทุนตัวเองสร้าง “ข่วงภูมิปัญญาพื้นบ้านลานวัฒนธรรม” เปิดกว้างสอนทุกอย่างฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - พบบุคคลที่น่ายกย่องดิ้นรนปลุกปั้น “ข่วงส่งเสริมภูมิปัญญาพื้นบ้านลานวัฒนธรรม” โดยใช้ทุนตัวเองหวังเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ให้เยาวชนรุ่นหลังเป็นผู้สืบสาน ใครทำได้สามารถไปต่อยอดหารายได้เอง อย่างแม่เฒ่าวัย 53 ฝึกปักผ้าลวดลายเชียงตุงจนมีผู้สั่งจองเป็นจำนวนมาก

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงรายแจ้งว่า ที่บ้านเลขที่ 173 บ้านชัยนิเวศน์ ม.13 ต.เวียงชัย อ.เวียงชัย จ.เชียงราย อาจารย์มานิตย์ เจริญเกษมทรัพย์ อายุ 64 ปี มีการสร้างเป็น “ข่วงส่งเสริมภูมิปัญญาพื้นบ้านลานวัฒนธรรม” หรือศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ต.เวียงชัย ขึ้น โดยใช้งบประมาณและภูมิปัญญาส่วนตัวของนายมานิตย์ในฐานะผู้ทรงความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา

ภายในศูนย์มีทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนพากันแวะเวียนไปเรียนรู้ศิลปวิทยาการเกี่ยวกับวัฒนธรรมล้านนาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน เช่น การฟ้อนรำ การใช้ดนตรีพื้นบ้าน เช่น กลองสะบัดชัย ฉาบ ฉิ่ง กลอง ฯลฯ และในปัจจุบันสิ่งที่น่าสนใจคือการผลิตผ้าปักล้านนาลวดลายเชียงตุงซึ่งเป็นผ้าปักพื้นบ้านที่หายาก โดยอาจารย์มานิตย์ได้พัฒนาอาคารให้เป็นทั้งสถานที่ฝึกอบรมดังกล่าวและผลิตชิ้นงานไปพร้อมๆ กัน ส่วนด้านข้างเป็นอาคารไหว้ครู

อาจารย์มานิตย์กล่าวว่า เดิมภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่มีลักษณะกระจัดกระจายต่างคนต่างทำ ต่อมาราวปี 2548 ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเข้าไปให้ความรู้และทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันขึ้น ทำให้ตนซึ่งเคยทำงานค้าขายหันมาร่วมอนุรักษ์เพื่อหวังสืบสานไปถึงคนรุ่นลูกหลานต่อไป โดยการจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ที่จะสืบสานภูมิปัญญา โดยรวมรวบภูมิปัญญาท้องถิ่นได้รวมกันกว่า 20 รายการ เช่น การฟ้อนรำ กลองสะบัดชัย การทำโคม ทำตุง ดนตรีพื้นบ้าน ฯลฯ เดิมใช้สถานที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงเรียนในพื้นที่แต่ไม่สะดวกเพราะมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน รวมทั้งประสบปัญหาเรื่องเวลาปิดเปิดของทางราชการจึงเลิกไป

ต่อมาตนและกลุ่มได้เป็นตัวแทนของจังหวัดและประเทศไทยไปแสดงศิลปวัฒนธรรมที่สหรัฐอเมริกา จึงได้ทุนมาซื้อที่ดินประมาณ 2 งานและตั้งเป็นข่วงส่งเสริมภูมิปัญญาฯ ดังกล่าวได้ในที่สุด ปัจจุบันตั้งเป็นกองทุนเพื่อสืบสานภูมิปัญญา โดยมีความอิสระเรื่องพื้นที่และการบริหารจัดการทุกอย่าง โดยสืบสานให้คนทั่วไปและเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อจะได้สานต่อ เมื่อไม่มีตนแล้วก็จะบริจาคให้ผู้ที่จะมาสานต่อได้บริหารจัดการโดยตนไม่ถือเป็นทรัพย์สินส่วนตัว

“ปัจจุบันข่วงส่งเสริมภูมิปัญญาฯ ของเราก็เปิดกว้าง ใครจะเข้าไปศึกษาศิลปะแขนงใดก็ได้โดยไม่จำกัดอายุ เราไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะต้องการให้คนเรียนรู้และสืบสาน ทำให้แต่ละวันมีคนแวะเวียนไปเรียนรู้อยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนภายในข่วงเราก็มีทีมประจำส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอยู่แล้วประมาณ 19 คน ซึ่งฝึกฝนจนสามารถรับงานตามงานต่างๆ ที่มีผู้ว่าจ้างได้ โดยแบ่งเป็นการแสดงชุดเล็กราคา 5,000 บาท หากมีการแสดงมากขึ้นก็ 8,000 บาท และชุดใหญ่ตั้งแต่ 12,000 บาทขึ้นไป โดยเจ้าภาพจ่ายค่าเดินทางให้ด้วย รายได้ก็นำเข้าศูนย์เพื่อให้เยาวชนมีรายได้เสริมต่อไป” อาจารย์มานิตย์ กล่าว และว่า นอกจากนี้ในปัจจุบันยังได้ฟื้นฟูการปักผ้าลวดลายเชียงตุงคือ “ผ้าซิ่นไหมคำ” ขึ้นมาอีกด้วย”

การปักผ้าทอลวดลายเชียงตุงดังกล่าวคือการทอบนผืนผ้ากว้าง 6 นิ้ว ยาว 180 นิ้ว ถ้าเป็นผ้าที่ทอเสร็จแล้วจำหน่ายผืนละ 4,000-5,000 บาท แต่หากนำมาทอเป็นผ้าซิ่นเสร็จเรียบร้อยแล้วจะได้ราคาผืนละ 8,000 บาทขึ้นไป ปัจจุบันมีชาวบ้านที่มีฝีมือด้วยการฝึกฝนจนชำนาญในข่วงของเราหลายคน เช่น นางคำเอ้ย ป๊อกกาศ วัย 53 ปี ที่สามารถปักผ้าทอเชียงตุงได้อย่างชำนาญ ปัจจุบันมีผู้สนใจสั่งจองผ้าเป็นจำนวนมากและมีผู้ศึกษาดูงานและเข้าไปเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง







กำลังโหลดความคิดเห็น