ประจวบคีรีขันธ์ - ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เดินทางมาตรวจสอบโครงกระดูกสัตว์คล้ายแรดที่พบในอำเภอกุยบุรี พร้อมนำโครงกระดูกที่พบมาเรียงเพื่อเปรียบเทียบขนาดกับโครงกระดูกแรดชวาที่เคยพบก่อนหน้านี้ประมาณ 5 ปี เบื้องต้น โครงกระดูกที่พบมีขนาดเล็กกว่า สันนิษฐานว่า อาจเป็นได้ทั้งแรดชวา และแรดสุมาตรา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าและฟอสซิล จาก ม.ศิลปากร จะเดินทางมาตรวจอย่างละเอียดวันศุกร์นี้
ความคืบหน้ากรณีชาวบ้านพบโครงกระดูกสัตว์คล้ายกระดูกแรด ที่ชายทะเลหมู่ 9 อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้ส่งมอบให้กรมอุทยานแห่งชาติมาเพื่อตรวจสอบ โดยขณะนี้ได้มีการนำโครงกระดูดทั้งหมดมาไว้ที่อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบโดยละเอียด เนื่องจากมีการตั้งขอสันนิษฐานว่า โครงกระดูกที่พบอาจจะเป็นกระดูกแรดชวา สัตว์ป่าสูญพันธุ์จากประเทศไทยมานานหลายปี
ล่าสุด วันนี้ (5 เม.ย.) นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้เดินทางมาตรวจสอบโครงกระดูกสัตว์ดังกล่าว ร่วมกับ นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ซึ่งเบื้องต้นสันนิษฐานน่าจะเป็นสัตว์ตระกุลแรด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นโครงกระดูกแรดชวา เนื่องจากก่อนหน้านี้ราวปี พ.ศ.2554 ได้มีการพบโครงกระดูกแรดชวาในพื้นที่นากุ้งของชาวบ้าน ความลึกจากพื้นดินประมาณ 10 เมตร
ขณะเดียวกัน ได้มีการนำโครงกระดูกสัตว์ที่พบทั้งหมดมาเรียงเป็นรูปร่างเพื่อเปรียบเทียบกับโครงกระดูกของแรดชวาที่พบก่อนหน้านี้ ทำให้ทราบว่า โครงกระดูกที่พบครั้งนี้มีขนาดเล็กกว่า ลักษณะของฟันเล็กกว่ากระดูกของแรดชวาที่พบก่อนหน้านี้ ซึ่งเบื้องต้นสันนิษฐานว่า มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะเป็นกระดูกของแรดชวายังไม่โตเต็มวัย หรืออาจจะเป็นแรดสุมาตรา ซึ่งเป็นแรดขนาดเล็ก ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น และป่าทึบริมทะเลทางภาคไต้ของประเทศไทย ไปจนถึงมาเลเชีย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ แรดชวา และแรดสุมตรา หรือที่รู้จักกันในประเทศไทย ว่า กระซู่ เป็นสัตว์สูญพันธุ์จากประเทศไทยมานานหลายปี การตรวจพบครั้งนี้จึงถือเป็นตัวชี้วัดพื้นที่กุยบุรี และสามร้อยยอด เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า
นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการประสานขอผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบแล้ว โดยในวันศุกร์ที่ 8 เม.ย. คณะผุ้เชี่ยวชาญจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบซากฟอสซิลสัตว์จะมาทำการตรวจพิสูจน์อย่างละเอียด ร่วมกับสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งจะมีการบันทึกข้อมูลพิกัดสถานที่ที่พบกระดูกทั้ง 2 แห่ง เพื่อศึกษาเส้นทางเดิน และการใช้ชีวิตของสัตว์ป่าในขณะนั้น เป็นต้น จากนั้นจะมีการจัดทำข้อมูล และจัดแสดงไว้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน