xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น(มาก) ถ้าเดินหน้าด้วยความรัก แต่ขาดความรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” คนทำงานศิลปะจำนวนไม่น้อยตระหนักในคำกล่าวนี้ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้วางรากฐานการศึกษาศิลปะร่วมสมัยของไทย ด้วยว่าศิลปะย่อมมีอายุยืนยาว กว่าศิลปินผู้สร้างสรรค์มันขึ้นมา

เช่นกันว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตจะยิ่งสั้นมาก” หากการทำงานศิลปะของศิลปินแต่ละคน เป็นไปท่ามกลางความเสี่ยง ขาดความระมัดระวัง เดินหน้าด้วยความรัก แต่ขาดความรู้

นอกจากพฤติกรรมดื่มหนัก พักผ่อนน้อย โหมทำงานข้ามวันข้ามคืน ที่เป็นปัจจัยบั่นทอนสุขภาพ ทำให้มีชีวิตอยู่เพื่อทำสิ่งที่รักต่อไปได้ไม่นาน

ในด้านหนึ่งความเสี่ยงอันเกิดจาก วัสดุ อุปกรณ์ และกระบวนการทำงานศิลปะ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
มณเฑียร บุญมา
เดินหน้าด้วยความรัก แต่ขาดความรู้

ดังเคยมีตัวอย่างศิลปินที่ ต้องจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร ตามที่ อัจฉรา นวลสวาท นักศึกษาปริญญาเอก ประวัติศาสตร์ศิลป์ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ได้ให้ข้อมูล

อาทิ มณเฑียร บุญมา ศิลปินทางด้าน Installation Art หรือ ศิลปะจัดวาง ซึ่งมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 47 ปี เนื่องจากโรคมะเร็ง โดยมีสาเหตุพื้นฐานจากการสั่งสมของสารในวัสดุที่ศิลปินใช้ทำงานศิลปะมาตลอดชีวิต

รวมไปถึงศิลปินรุ่นหลังวัยเพียง 30 ปีต้นๆ อย่าง วิโรจน์ รัตนแจ่มเจริญ ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไขกระดูก โดยมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแบบที่คนรอบตัวเชื่อว่าน่าจะส่งเสริมให้เจ็บป่วย นั่นคือ มักจะพบเจ้าตัวทำงานอยู่ท่ามกลางสีน้ำมัน ทินเนอร์ และสารระเหยอื่นๆ

หรือแม้แต่ ทนง โคตรชมภู ศิลปินพิการ ชาว อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ผู้ฝึกฝนการวาดภาพด้วยปาก จนชำนาญ มีผลงานได้รับการยอมรับ มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หยิบยืมผลงานไปจัดแสดง เคยได้รับโล่พระราชทานคนพิการดีเด่น จากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลอันดับ 1 เหรียญทอง จากการแสดงศิลปกรรม THE HEBE RANSFORD MEMORIAL MELBOURNE AUSTRALIA

เวลานี้ก็กำลังล้มหมอนนอนเสื่อ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ การที่ต้องสูดดมกลิ่นสีและส่วนผสมอื่นๆที่ใช้การวาดภาพในระยะประชิด ชนิดจมูกต้องชนพู่กันและผืนผ้าใบ อยู่ตลอดเวลา มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523

ชรินทร์ญา พรมมา น้องสะใภ้ ผู้ทำหน้าที่ดูแลทนง บอกเล่าว่า พี่สามีล้มป่วยมาหลายปีแล้วและบางช่วงป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล แต่อาการขณะนี้ไม่สามารถพูดได้ เนื่องจากปอดและลำคอติดเชื้อ อันมีสาเหตุมาจากการที่ต้องใช้ปากวาดภาพด้วยสีน้ำมัน อย่างไรก็ตามปัจุบันเจ้าตัวยังไม่ได้หยุดวาดภาพ วันไหนที่สุขภาพฟื้นตัว ยังคงวาดภาพด้วยสีน้ำแทนสีน้ำมันที่เคยใช้ เนื่องจากมองว่าน่าจะปลอดภัยกว่า
ทนง โคตรชมภู
ตัวอย่างผลงานวาดด้วยปากของ ทนง โคตรชมภู
ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการทำสถิติว่า มีคนทำงานศิลปะจำนวนมากน้อยแค่ไหนที่ต้องเสียชีวิตและล้มป่วย เพราะความเสี่ยงอันเกิดจาก วัสดุ อุปกรณ์ และกระบวนการทำงานศิลปะ

แต่เมื่อราวสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผศ.อภิชัย ภิรมย์รักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น รองคณบดีฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ของคณะฯ ให้ข้อมูลว่าทางคณะเคยได้รับการประสานงานจากแพทย์ของกรมอนามัย นำโดย นพ.สมชัย บวรกิตติ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ กรมอนามัย กระทรวง สาธารณสุข ในการเข้ามาเก็บข้อมูลตรวจสอบวิเคราะห์สารพิษในร่างกายของอาจารย์และนักศึกษาศิลปะของคณะฯลฯ

“ตอนนั้นคุณหมอท่านใจสนใจว่าการทำงานศิลปะมันมีอันตรายจากสารเคมีอะไรบ้าง ก็เลยมาเก็บข้อมูลต่างๆในห้องปฏิบัติการของคณะฯแล้วท่านก็นำข้อมูลไปเขียนเป็นบทความลงในหนังสือ”
รองศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง
คืนสู่ธรรมชาติคือทางเลือก

รองศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมฯ อีกท่าน ส่วนหนึ่งของผู้ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเก็บข้อมูลตรวจสอบวิเคราะห์สารพิษในร่างกายของอาจารย์และนักศึกษาศิลปะของคณะจิตรกรรมฯลฯ ในครั้งนั้นของ นพ.สมชัย

แต่เวลาผ่านไปหลายปีกระทั่งปัจจุบัน การมาเก็บข้อมูลในครั้งนั้น ซึ่งมีการตรวจเลือดเพื่อวิเคราะห์หาสารพิษในร่างกายของอาจารย์และนักศึกษาศิลปะด้วย ก็ยังไม่มีการสรุปผลออกมาให้ทราบว่าพบสารพิษอะไรในร่างกายของแต่ละคนบ้าง

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลามากกว่าสิบปีที่ผ่านมา รศ.ญาณวิทย์ ถือเป็นศิลปินผู้หนึ่งที่หันมาให้ความสนใจ สร้างผลงานศิลปะเทคนิคภาพพิมพ์จากสีธรรมชาติ โดยยอมรับว่าส่วนหนึ่งเพราะกังวลว่าจะได้อันตราย จากสารเคมี

เนื่องจากในกระบวนการทำงานศิลปะเทคนิคภาพพิมพ์ ซึ่งแบ่งแยกย่อยออกเป็นหลากหลายเทคนิค ล้วนแต่มีความเสี่ยงสูง

“ผมเคยทำงานภาพพิมพ์มาทุกเทคนิค ตั้งแต่เป็นนักศึกษา ทุกเทคนิคล้วนแต่ต้องใช้สารเคมี แม้แต่ภาพพิมพ์เทคนิคแกะไม้ (wood cut) ที่ใช้ไม้เป็นแม่พิมพ์ แต่ถึงเวลาที่ต้องพิมพ์ออกมาเป็นภาพ ก็ยังต้องใช้สีน้ำมันในการกลิ้งสีผสมสี เราจะใช้สีน้ำแทนก็ได้ แต่สีน้ำก็ยังมีพวกสารตะกั่ว มีอยู่ในสีน้ำอยู่ดี เราพูดกันว่าสีน้ำปลอดภัย แต่จริงๆก็ยังมีอยู่

แต่สีที่ผมใช้ทำงานภาพพิมพ์ในตอนนี้เป็นสีที่ปลอดจากสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้กาวกระถิน ใช้สีจากธรรมชาติที่เราสกัดขึ้นมาเอง และใช้น้ำผึ้งผสม อะไรพวกนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการพิมพ์ที่พัฒนามาจาก เราทดลองทำภาพพิมพ์เทคนิค Mono Print ด้วยสีน้ำ แล้วตอนหลังเราก็เปลี่ยนมาใช้สีธรรมชาติ หลังจากที่เมื่อก่อนเราเจอสารเคมีมาเยอะจากการทำงานภาพพิมพ์

แต่การทำงานศิลปะเทคนิคอื่นๆก็มีความเสี่ยงไม่แพ้การทำภาพพิมพ์เช่นกัน เช่นพวกที่ใช้เรซิ่นหล่องานประติมากรรม ใช้สเปร์ยพ่นตามผนัง ดังนั้นเรา คนทำงานศิลปะต้องรู้จักหาวิธีป้องกัน”

นอกจากนี้ด้วยความที่เป็นเจ้าของป่าอนุรักษ์บนพื้นที่ขนาด 108 ไร่ ในอำเภอชะอำ ซึ่งคุณพ่อ สงวน กุญแจทอง อาจารย์และเภสัชกรแผนไทย ได้ทุ่มเทเวลากว่า 58 ปี ปลูกและอนุรักษ์ไว้ บวกกับความใส่ใจเรื่องสุขภาพ ยังเป็นเหตุผลให้ รศ.ญาณวิทย์ สนใจทำการคิดค้นและพัฒนาเทคนิคภาพพิมพ์สีธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง จนได้รับความสนใจถูกเชิญไปสอนและบรรยายที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้วหลายครั้ง ในด้านสุขภาพก็ถือว่าดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก โรคภูมิแพ้ที่เคยเป็นลดน้อยลง เพราะชีวิตส่วนใหญ่ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธิ์

อย่างไรก็ตามรศ.ญาณวิทย์มองว่า ความปลอดภัยของคนทำงานศิลปะ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการหลีกเลี่ยงใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียว สถานที่ทำงานศิลปะที่ต้องเป็นที่ๆอากาศถ่ายเทและปัจจัยอื่นๆก็มีความสำคัญเช่นกัน

เห็นว่าอันตรายของวัสดุอุปกรณ์ และหลายเรื่องที่เป็นความเสี่ยงสำหรับคนทำงานศิลปะ ควรมีการให้ความรู้ ตั้งแต่ในชั้นเรียนศิลปะ

“ทุกครั้งในชั่วโมงของการเรียนการสอนศิลปะทั่วไป อาจารย์ผู้สอนเขาก็แทรกความรู้เรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับนักศึกษาว่าเวลาเขาทำงานศิลปะ เขาทำตามหรือเปล่า บางทีสีหกเลอะไม่เช็ด มันก็ย่อมส่งกลิ่นเข้าจมูกเป็นอันตราย”



ผลงานศิลปะเทคนิคภาพพิมพ์จากสีธรรมชาติ ของ รศ.ญาณวิทย์  ในนิทรรศการ ภาพพิมพ์จากป่าสงวน
รู้แต่ละเลย

รศ. ดร. กฤษณา หงส์อุเทน อาจารย์ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร แสดงความเห็นว่า บางครั้งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าศิลปินบ้านเราไม่มีความรู้ แต่เป็นเพราะความมักง่าย หรือละเลยที่จะป้องกันตัวเอง

“ในต่างประเทศเองก็ยังไม่มีการเรียนการสอนหรือรายวิชาที่ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัย แต่เขามีกฎหมายบังคับไว้หลายอย่าง และคนของเค้ามีวินัยกว่าของเรา

ถ้าเป็นการทำงานศิลปะ ที่ต้องใช้สารระเหยที่เป็นอันตรายเขาจะต้องใช้หน้ากากป้องกันอยู่แล้วและเวลาไปใช้เวิร์คชอป จะมีข้อบังคับไว้เลยว่าเราจะต้องทำอย่างไรที่จะเซฟตัวเอง เซฟสภาพแวดล้อม เช่น ห้ามเทกรดทิ้งลงในท่อน้ำ แม้กระทั่งน้ำล้างพู่กันก็จะไม่ทิ้งลง เพราะมันมีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ลักไก่แบบคนไทย ใครไม่เห็นก็ทิ้งลงบนท่อระบายน้ำ หรือรู้ว่าอันตรายต่อตัวเองก็ยังละเลย

ในต่างประเทศเคยมีนักศึกษาเทกรดลงไปในท่อระบายน้ำ เขาจะมีเซ็นเซอร์ดักจับ ตามหาได้เลยว่ากรดมาจากท่อไหน เพราะ กฎหมายเขาศักดิ์สิทธิ์ บังคับได้ และคนของเขามักง่าย ไม่ใช่ทำอะไรแบบยัดผ้าอนามัยลงไปในโถส้วมคิดว่าไม่มีใครรู้ การปฏิบัติของเราจึงไม่เพียงอันตรายตัวเอง แต่ยังกระทบต่อสภาพแวดล้อม”

ข่าวโดย  ART EYE VIEW



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754






ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น