ประจวบคีรีขันธ์ - เจ้าหน้าที่ อช.กุยบุรี ขนย้ายโครงกระดูกสัตว์ขนาดใหญ่ไปเก็บไว้ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เพื่อเทียบเคียงซากโครงกระดูแรดชวา ที่พบในบ่อกุ้งในอุทยานเขาสามร้อยยอด เมื่อ 2554 เพื่อรอผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่ามาตรวจสอบชี้ชัดซากกระดูกที่พบว่า เป็นแรดชวา หรือกระซู่ ณ วันนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ แต่ไม่ใช่สัตว์ทะเล
วันนี้ (4 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าหลังจาก นายวรรณ ชาตรี ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักบริหารและจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยกู้ภัยมูลนิธิหลวงพ่อในกุฏิ วัดกุยบุรี ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ชายทะเลบ้านเขาขวาง ม.9 ต.กุยเหนือ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภายหลังได้รับแจ้งจาก นายอภิรักษ์ รักชม อายุ 37 ปี ชาวบ้านเขาขวาง ที่ออกร่อนเพรียงในทะเลว่า พบกะโหลกศีรษะขนาดใหญ่จมอยู่ในน้ำทะเล ห่างจากชายฝั่งประมาณ 100 เมตร เมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบพบเป็นศีรษะสัตว์ขนาดใหญ่ และโครงกระดูกไม่ทราบชนิด เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยจึงช่วยกันขุดขึ้นมาจากทรายนำขึ้นฝั่ง จากการตรวจสอบพบที่ศีรษะมีฟันยาวประมาณ 45 ซม. กว้าง 30 ซม. มีปลายกรามล่างทั้ง 2 ข้าง ส่วนโครงกระดูกที่เก็บมาได้มีมากกว่า 50 ชิ้น แต่อยู่ในสภาพเก่ามีเพรียงเกาะอยู่ และทางเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ได้นำมาที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เมื่อช่วงสายวันนี้ โดย นายกาญจนพันธุ์ คำแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้ตรวจสอบเบื้องต้นเพียงแต่เทียบเคียงกับภาพถ่ายแรดชวา และกระซู่ จากเว็บไซต์เท่านั้น แต่เชื่อว่าเป็นกระดูกสัตว์ที่กินพืช ซึ่งทางสัตวแพทย์ศูนย์วิจัยฯ ก็ยืนยันว่า ใช่เป็นสัตว์ทะเล
เบื้องต้น ทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้รายงานไปยัง นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้สั่งการให้นำโครงกระดูกสัตว์มาไว้ที่สำนักงานอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ในช่วงเย็นวันนี้ เนื่องจากมีซากโครงกระดูกฯ แรดชวา ที่พบเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 ในบ่อกุ้ง เพื่อนำมาเทียบเคียงกัน
ทั้งนี้ การพบโครงกระดูกสัตว์ป่าครั้งนี้คงต้องรอเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่ามาตรวจสอบในวันพรุ่งนี้ (5 เม.ย.) ว่า เป็นโครงกระดูกของแรดชวา หรือกระซู่ แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ ทราบเพียงว่า ในส่วนของฟันนั้นค่อนข้างมีความสมบูรณ์มากกว่าตัวที่พบเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
สำหรับแรดชวา เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดที่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย ที่ผ่านมา มีการพบซากแรดชวาในประเทศไทยเพียง 3 แห่ง คือ ที่กรมทรัพยากรธรณี และพิพิธภัณฑ์สัตว์นนทบุรี และที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เมื่อปี 2554 ซึ่งเมื่อในอดีตพื้นที่ชายทะเลสามร้อยยอด อาจเป็นป่าดิบที่มีทั้งแรด ช้างป่า กระทิง รวมทั้งสัตว์ป่าต่างๆ