xs
xsm
sm
md
lg

อร่อยจริง! เชียงรายเปิดตลาดบ้านดู่ โชว์-ขาย “ปลานิลถิ่นล้านนา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ผู้ว่าฯ เชียงรายนำทีมตัดริบบิ้นเปิดงาน “ปลานิลถิ่นล้านนา” สัตว์เศรษฐกิจที่ทำเงินเข้าจังหวัดกว่า 800 ล้าน/ปี กลางตลาดบ้านดู่แล้ว โชว์เต็มที่ทั้งปลาตัวเป็นๆ ผลิตภัณฑ์จากปลาหลากชนิด ทั้งลาบ ไส้อั่ว ปลานิลเส้น ฯลฯ เผยงานนี้มีถึงพรุ่งนี้ (2 เม.ย.) เท่านั้น

นายประจญ ปรัชญ์สกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงาน “ปลานิลถิ่นล้านนา” โครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตปลานิลถิ่นล้านนาสู่สากลและโครงการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่คืนที่ผ่านมา (31 มี.ค.) จนถึง 2 เม.ย.นี้ ณ ตลาดบ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย

นายประจญกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานปลานิลให้กรมประมงนำไปเพาะขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้เกษตรกรเพื่อเลี้ยงเป็นอาหารโปรตีนประจำครัวเรือนตั้งแต่ปี 2509 มาถึงปัจจุบันปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาก็มีอายุครบ 50 ปีแล้ว และมีการเลี้ยงปลานิลกระจายไปทั่วประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มนับหลายหมื่นล้านบาท

ขณะที่ จ.เชียงรายถือเป็นแหล่งเลี้ยงปลานิลที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ จึงเรียกปลานิลที่เลี้ยงได้ว่า “ปลานิลถิ่นล้านนา” และจังหวัดฯ ได้ส่งเสริมการเลี้ยงอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และส่งเสริมตลาดปลานิลให้เป็นที่รู้จัก รวมทั้งเตรียมการส่งเสริมสู่ตลาดสากลต่อไปด้วย

นายวิสูตร ศศิวิมล ประมง จ.เชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันเชียงรายมีพื้นที่เลี้ยงปลานิล รวมกันประมาณ 7,000 ไร่ มีเกษตรกรร่วม 2,000 คน ผลผลิตปีละไม่ต่ำกว่า 16,000 ตัน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 800 ล้านบาทต่อปี มีตลาดสำคัญใน 6 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ และพะเยา รวมไปถึงประเทศพม่า และ สปป.ลาว ด้วย

ด้าน นายฐิติพงศ์ ไชยองค์การ รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจเลี้ยงปลานิลที่ อ.พาน กล่าวว่า นอกจากขายเป็นปลาสดแล้ว ปัจจุบันเกษตรกรหันมาเน้นการแปรรูปปลานิลเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย ซึ่งการเลี้ยงปลานิลที่ อ.พานสามารถทำได้ยั่งยืนยาวนาน และประสบความสำเร็จ เพราะเกษตรกรมีความรักในอาชีพนี้ สภาพของดินและน้ำเอื้ออำนวย ไม่มีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ ดินก็ไม่มีสาหร่ายที่ทำให้ปลาเหม็นกลิ่นโคลนด้วย ดังนั้นอนาคตของตลาดปลานิลทั้งสดและแปรรูปยังสดใส

สำหรับภายในงาน “ปลานิลถิ่นล้านนา” มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของปลานิล การจัดแสดงปลานิลตัวใหญ่ การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารจากปลานิลในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ดี การประกวดทำอาหารจากปลานิล เช่น ลาบ ฯลฯ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวงานอย่างมาก โดยเฉพาะไส้อั่วปลานิล ที่มีรสชาติอร่อย เป็นที่นิยมของผู้ที่ต้องการบริโภคอาหารประเภทปลามากกว่าเนื้อสัตว์อื่น นอกจากนี้ยังมีปลานิลเส้นปรุงรส ปลานิลแดดเดียว และอื่นๆ อีกมากมาย







กำลังโหลดความคิดเห็น