xs
xsm
sm
md
lg

ตื่นตา! นกจาบคาหัวเขียวอพยพขุดรูผสมพันธุ์วางไข่ที่เมืองเพชร (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพชรบุรี - สุดตื่นตา ฝูงนกจาบคาหัวเขียว อพยพขุดรูผสมพันธุ์วางไข่ที่เมืองเพชร ในพื้นที่ดินดอนของชาวบ้านตำบลหนองพลับ เมืองเพชรบุรี เป็นประจำทุกปี



เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้ที่พบเห็นฝูงนกจาบคาหัวเขียว ที่มีสีสันสวยงาม โดยจะมีสีเขียวเด่นเป็นพิเศษ บริเวณใบหน้ามีแต้มสีฟ้าเล็กๆ และมีแถบยาวสีดำอยู่ตรงดวงตา ขนที่คอเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาล หางเป็นสีฟ้า จะงอยปากสีดำ ที่หนีหนาวอพยพมาจากแดนไกล ซึ่งไม่มีใครสามารถระบุได้ว่า นกเหล่านี้มาจากที่ไหน รู้เพียงแต่ว่า นกจาบคาหัวเขียวหลายร้อยตัวจะอพยพเข้ามาขุดดินสร้างรัง และวางไข่ในพื้นที่ดินดอนของชาวบ้านตำบลหนองพลับ อ.เมือง จ.เพชรบุรี แห่งนี้เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม โดยพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นดินทราย และเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีสิ่งปลูกสร้าง มีต้นหญ้า และดอกหญ้าขึ้นอยู่ จึงเหมาะสำหรับนกชนิดนี้ที่จะมาขุดรูในดินเพื่อทำรัง และวางไข่ โดยในช่วงนี้นกกำลังอยู่ระหว่างขุดรูดินเพื่อรอการผสมพันธุ์วางไข่ และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะมีลูกนกฟักออกมาใหม่เพื่อรอการเติบโต และบินกลับสู่ถิ่นเดิมก่อนที่นกเหล่านี้จะกลับมาว่างไข่ในที่เดิมนี้อีกครั้งในปีหน้า

สำหรับเหตุผลที่นกจาบคาหัวเขียว อพยพกลับมาขุดรูวางไข่ในพื้นที่เดิมเป็นประจำทุกปีนั้น เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ไม่มีใครไปรบกวน จึงทำให้นกเหล่านี้มีความรู้สึกปลอดภัย อีกทั้งในพื้นที่ดังกล่าวมีอาหารที่นกจาบคาหัวเขียวชื่นชอบ และเพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะแมลงชนิดต่างๆ ทั้งแมลงปอ ผีเสื้อ มด ตั๊กแตน ผึ้ง ฯลฯ จึงทำให้นกจาบคาอพยพมาเป็นวางไข่ขยายพันธุ์ทุกปี และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรีที่มีนกจาบคาหัวเขียวอพยพมาทำรังวางไข่ในลักษณะเดียวกัน ทำให้ผู้ที่ทราบข่าวต่างพากันไปดูความน่ารักของนกชนิดนี้ เนื่องจากมีสีสันที่สวยงาม โดยเฉพาะช่างภาพที่ชอบถ่ายภาพที่ต่างเฝ้ารอเพื่อเก็บภาพสวยๆ ของนกจาบคาในท่วงท่าต่างๆ

จากข้อมูลพบว่า นกจาบคาหัวเขียว (Blue-tailed bee-eater) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Merops philippinus เป็นนกในตระกูล Meropidae จัดเป็นนกอพยพชนิดหนึ่ง มีแหล่งผสมพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางครั้งอาจถูกจัดให้อยู่ในสปีชีส์เดียวกับนกจาบคาแก้มฟ้า (Merops persicus) นกจาบคาหัวเขียว มีแหล่งผสมพันธุ์ในพื้นที่ชนบทกึ่งเขตร้อน อย่างเช่นในไร่ สวน นาข้าว หรือสวนสาธารณะ มักพบได้บ่อยครั้งบริเวณใกล้กับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ รังมีลักษณะเป็นเหมือนอุโมงค์ค่อนข้างยาว นกชนิดนี้จะวางไข่ทรงกลมสีขาวครั้งละ 5-7 ฟอง ทั้งตัวผู้ และตัวเมียจะเฝ้าดูแลไข่ด้วยกัน นอกจากนี้ เวลาออกหากิน หรือพักเกาะตามที่สูงก็มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเช่นกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น