ประจวบคีรีขันธ์ - อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ป่าเด็ง-ป่าละอู จัดกิจกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ช้างป่าที่เสียชีวิต จำนวน 7 ตัว เติมน้ำในแหล่งน้ำของช้างป่าแก้ปัญหาภัยแล้ง ทำพิธีฝังกะโหลกช้างที่พบเมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งจัดเสวนาแก้ปัญหาช้างป่า เนื่องในวันอนุรักษ์ช้างไทย
วันนี้ (10 มี.ค.) ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กจ.7 หุบเต่า ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์ช้างไทย ประจำปี 2559 โดยมี พ.อ.สุรินทร์ นิลเหลือง รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 เป็นประธานในพิธีทำบุญถวายภัตตาหารเพลอุทิศส่วนกุศลให้แก่ช้างป่าที่เสียชีวิตในพื้นที่ป่าเด็ง-ป่าละอู จำนวน 7 ตัว ร่วมด้วย นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า องค์การบริหารส่วนตำบลป่าเด็ง องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กลุ่มอาสาสมัครชุมชน และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน
พร้อมกันนี้ ยังได้ร่วมกันเติมน้ำลงในแหล่งน้ำของช้างป่าเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง จากนั้นผู้ร่วมงานทั้งหมดได้ร่วมกันทำพิธีฝังกะโหลกช้างป่าเพศเมีย อายุประมาณ 10-15 ปี ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพบขณะลาดตระเวนตรวจพื้นที่ในป่าลึกบ้านละเมาะ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา และกิจกรรมเสวนาให้หัวข้อ การแก้ปัญหาช้างป่าแก่งกระจาน
นายกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีช้างป่าอยู่ประมาณ 250 ตัว โดยกระจายอยู่ใน 2 ส่วนหลัก ช้างป่ากลุ่มพะเนินทุ่ง 100 ตัว และช้างป่ากลุ่มป่าละอู 150 ตัว ซึ่งจะหากินอยู่ในพื้นที่ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกัน และที่ผ่านมา เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้าง และมีช้างป่าเสียชีวิตในพื้นที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น เนื่องในวันอนุรักษ์ช้างไทยจึงได้จัดกิจกรรมเพื่อการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานราชการต่างๆ กับภาคประชาชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า สร้างจิตสำนึก และความตระหนักในการช่วยกันอนุรักษ์ช้างไทย และช่วยกันเพิ่มแหล่งอาหาร แหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของช้างป่า และสัตว์ป่า ซึ่งในปีนี้ปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ และสัตว์ป่า ดังนั้น จะต้องช่วยกันสร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหารให้ช้างป่าเพื่อป้องกันปัญหาช้างป่าออกมากัดกินผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน
ขณะที่การเสวนาแก้ปัญหาช้างป่าแก่งกระจาน ซึ่งหลายฝ่ายทั้งภาคราชการ สื่อมวลชน และประชาชนได้มีการเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาช้างป่าแก่งกระจานร่วมกัน โดยทุกฝ่ายต่างระบุตรงกันว่า ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าทุเลาลงอย่างมาก เนื่องจากมีการระดมความคิดในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเรื่อยมา ชาวบ้านทุกคนต่างหใความสำคัญไม่ทำร้ายช้าง สามารถอยู่ร่วมกันได้
แต่ปีนี้ปัญหาภัยแล้งซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา อาจจะส่งผลต่อทั้งคน และช้าง เมื่อพืชอาหารช้างไม่เพียงพอช้างป่าอาจจะออกมาหากินในพื้นที่ชาวบ้าน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องวางแผนป้องกันร่วมกัน ขณะนี้ก็มีโครงการสร้างแนวรั้วแบบประชาอาสาขึ้น ในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ซึ่งได้มีการทดสอบก็สามารถกันช้างไม่ให้บุกรุกเข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และจะต้องสานต่อโครงการนี้ต่อไป รวมทั้งจะต้องวางมาตรการอื่นมาเสริมด้วย