xs
xsm
sm
md
lg

“จนท.แก่งกระจาน” เกาะติดพฤติกรรมช้างป่าละอู หลังจากช้างป่าเพศผู้ล้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - เจ้าหน้าที่ อช.แก่งกระจาน กระจายกำลังติดตามดูพฤติกรรมช้างป่าละอู เพื่อสังเกตความผิดปกติของช้าง ภายหลังมีช้างเพศผู้อายุ 5 ปี ล้มกลางลำห้วยแม่น้ำปราณบุรี ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน เมื่อ 2 วันก่อน เบื้องต้น พบช้างเกือบ 100 ตัว ยังคงวนเวียนลงหาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าละอู แต่ยังไม่พบช้างมีอาการผิดปกติ และป่วยแต่อย่างใด

วันนี้ (16 เม.ย.) นายกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมเจ้าหน้าที่สายตรวจชุดต่างๆ ยังคงออกติดตามดูพฤติกรรมโขลงช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ออกจากป่ามาหากินตามแหล่งน้ำ และผืนป่ารอบๆ หมู่บ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงเย็นหลัง จากพบช้างป่าแก่งกระจานเพศผู้ อายุระหว่าง 4-5 ปี ล้มอยู่กลางลำห้วยแม่น้ำปราณบุรี ประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณหมู่ 8 บ้านเฉลิมราชพัฒนา ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา โดยสัตวแพทย์ได้ผ่าพิสูจน์ และพบมีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ จนทำให้ปอดอักเสบ เบื้องต้น สัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ ได้เก็บชื้นส่วนอวัยวะส่งไปตรวจสอบห้องปฏิบัติการ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อตรวจพิสูจน์หาเชื้อที่ทำให้ช้างป่าแก่งกระจานเสียชีวิต แต่เนื่องจากเป็นวันหยุดจึงต้องรอผลตรวจพิสูจน์ในวันจันทร์ที่ 18 เม.ย.ที่จะถึงนี้

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หน่วยพิทักษ์ป่าเข่าหุบเต่า หลังจากตระเวนติดตามโขลงช้างป่าละอู พบว่า มีโขลงช้างแบ่งเป็นโขลงเล็กขนาดตั้งแต่ 10-30 ตัว พากันออกจากป่าแนวเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ด้านหมู่บ้านฟ้าประทาน ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบมีโขลงช้างป่าซึ่งมีทั้งลูกช้าง และช้างวัยรุ่นพากันออกจากป่ามุ่งหน้าเดินลงมายังฝายยกระดับของหมู่บ้านฟ้าประทาน ที่ยังมีน้ำเหลืออยู่บางส่วน ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต้องบันทึกภาพ และสังเกตพฤติกรรมของช้างป่าที่ลงมาทั้งหมดว่า มีอาการที่บ่งบอกถึงความเจ็บป่วย หรือมีอาการที่ผิดปกติหรือไม่ พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลก่อนที่จะรายงานให้ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทราบในทันที

นายกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า เบื้องต้น ช้างที่พบล้มลงกลางลำห้วยแม่น้ำปราณ เกิดจากอาการผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากการถูกทำร้าย ดังนั้น จึงต้องเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวัง และการออกตรวจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ออกดูพื้นที่ทั้งแหล่งน้ำ แหล่งดิน โป่งธรรมชาติที่ช้างป่าเข้ามาใช้ เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ภายในผืนป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ด้านป่าละอู มีความแห้งแล้ง และแหล่งน้ำในป่าแห้งขอด

ดังนั้น ช้างจะออกมาในพื้นที่ของชาวบ้าน ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เฝ้าระวังมานานตั้งแต่ต้นปีจึงถึงขณะนี้ อีกทั้งเมื่อมาพบช้างป่าล้มจากสาเหตุด้วยอาการที่ผิดปกติ จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในระยะนี้ เพราะหากเจ้าหน้าที่พบช้างป่ามีอาการผิดปกติ ก็จะแจ้งไปยังสัตวแพทย์ที่ประจำอยู่ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาบ้านโป่งได้ทันที ก็จะทำให้การช่วยเหลือ และรักษาชีวิตช้างป่าได้ทันเวลา เหมือนกับช้างป่าละอู เมื่อปลายปีที่แล้วที่พบเจอนอนป่วย และให้การรักษาได้ทัน และปล่อยกลับคืนสู่ผืนป่าต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น