นครพนม - เกษตรกรในอำเภอศรีสงครามพลิกวิกฤตเป็นโอกาสหลังสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วน้ำท่วมหันปลูกนาบัว หรือราชินีแห่งไม้น้ำ เก็บดอกและฝักขายทำรายได้เป็นกอบเป็นกำแต่ละเดือนนับหมื่นบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดนครพนม หลังจากรัฐบาลได้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยอ้วน ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่บ้านอ้วน หมู่ 2 ต.หาดแพง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เมื่อปี 2546 ทำให้ในหลายพื้นที่ที่เกษตรกรเคยทำนามีน้ำท่วมขัง เกษตรกรเลยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการทำนาบัวแทน
นายกนก ศรีวิชัยนันท์ นายอำเภอศรีสงคราม เปิดเผยว่า บัว เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดนครพนม จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการทำนาบัวตามแนวพระราชดำริ ด้วยการมอบปัจจัยในการผลิตให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ซึ่งดอกบัวถือเป็นราชินีแห่งไม้น้ำที่ได้รับความนิยมตลอดมา เนื่องจากบัวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ และด้วยสีสันสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทำให้บัวเป็นที่ต้องการของท้องตลาดอย่างมาก
โดยเฉพาะจังหวัดนครพนม มีพระธาตุประจำวันเกิดครบทั้งเจ็ดวัน ช่วงเทศกาลและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาราคาของดอกบัวจะสูงขึ้น ซึ่งนอกจากพื้นที่ปลูกบัว หรือ “นาบัว” ก็มีการปลูกบัวแทนการทำนาข้าวเช่นกัน เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมขังทำให้ผลผลิตข้าวไม่คุ้มค่า และการทำนาบัวสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ปลูกได้มากกว่าอีกด้วย
“เกษตรกรที่หันมาทำนาบัวแทนนาข้าวในพื้นที่น้ำท่วมขัง หลังจากสร้างอ่างเก็บน้ำตอนนี้มีอยู่จำนวน 12 ราย ได้นำพันธุ์บัวมาปลูกเพื่อเก็บดอก และฝัก ขายทำรายได้แต่ละเดือนนับหมื่นบาทเลยทีเดียว” นายอำเภอศรีสงครามกล่าว และว่า
โดยจะปลูกคนละประมาณ 10-20 ไร่ สำหรับพันธุ์ที่ปลูก ได้แก่ บัวหลวงพันธุ์ฉัตรขาว และฉัตรแดง นอกจากนี้ บัวหลวงยังเป็นบัวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก เกษตรกรนิยมปลูกมากกว่าบัวชนิดอื่น ทั้งนี้ ราคาดอกบัวภายในจังหวัดช่วงวันสำคัญราคาดอกละ 1-3 บาทเลยเดียว และยังเก็บฝักขายได้อีกด้วย
นายทรงชัย เสนเพ็ง อายุ 56 ปี เกษตรกรเจ้าของนาบัว ชาวบ้านอ้วน หมู่ 2 ต.หาดแพง มีพื้นที่ปลูกบัวอยู่กว่า 10 ไร่ เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการทำนาบัวว่า ตนเริ่มปลูกบัวหลังจากรัฐบาลได้มาสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยอ้วน โดยช่วงเริ่มต้นได้เช่าพื้นที่ปลูกบัวประมาณ 3 ไร่ ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ปลูกไปแล้วจำนวน 10 ไร่ เก็บดอกและฝักบัวขาย มีคนมารับถึงที่รายได้ดีเดือนละ 30,000-40,0000 บาทเลยทีเดียว