มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เข้าสู่งานระยะที่ 2 มุ่งร่วมกับภาคีขยายงานการสร้างนักพัฒนาทั่วภาคอีสานเป็นพื้นที่แรก หลังจากการสร้างพื้นที่ต้นแบบมาหกปี จนมีความร่วมมือขยายพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้น ชาวบ้าน 4 พันครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น
หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวถึงผลการดำเนินงานของปิดทองหลังพระฯ ในพื้นที่ต้นแบบทั้ง 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดน่าน อุดรธานี เพชรบุรี กาฬสินธุ์และอุทัยธานี รอบ 6 ปีที่ผ่านมา ถือว่าสัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาระบบน้ำ ที่มีสำคัญต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน
ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ปิดทองหลังพระฯ ทำหน้าที่ประสานงานให้เกิดการบูรณาการ เริ่มจากการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ต้นแบบทั้ง 5 จังหวัดอย่างสัมฤทธิ์ผล ประชากร 3,948 ครอบครัวในพื้นที่ต้นแบบ มีพื้นที่รับน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น 17,379.67 ไร่ พร้อมกับส่งเสริมการเกษตรโดยการมีส่วนร่วมสนับสนุนจากภาคเอกชนและภาครัฐ
นอกเหนือจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่ต้นแบบแล้ว หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา กล่าวว่าการส่งเสริมอาชีพและพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ ช่วยเพิ่มความรู้และต่อยอดไปสู่ความเข้มแข็ง จากระดับครัวเรือนไปสู่ระดับชุมชนได้ในอนาคต
ปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับเอกชนและราชการท้องถิ่น ให้ความรู้และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น พริกซูเปอร์ฮอท สตรอว์เบอรี่ กล้วยเหลืองนวล เป็นต้น เพื่อเป็นทั้งพืชรายได้เสริมและพืชทางเลือกใหม่ สร้างรายได้ทดแทนข้อจำกัดในการปลูกข้าวของบางพื้นที่ เช่น บ้านโป่งลึก-บางกลอย ในจังหวัดเพชรบุรี
การดำเนินงานของชาวบ้านได้เกิดพัฒนาจากระดับครัวเรือนมาสู่การรวมกลุ่มบริหารจัดการ ซึ่งนับเป็นดัชนีหนึ่งที่ชี้ความก้าวหน้าของสังคมชนบท จนปัจจุบันเกิดกลุ่มและกองทุนที่ชาวบ้านจัดการตนเองแล้ว 33 กลุ่ม
จากเป้าหมายเริ่มต้นของปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน ที่จะส่งเสริมการเกษตรเพื่อคืนพื้นที่ป่า ผลปรากฏว่าเมื่อมีน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรน้อยลง
ดังนั้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงได้รับมอบจากรัฐบาล ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯและชุมชนฟื้นฟูป่าหัวโล้นของจังหวัดน่าน ด้วยแนวทางสร้างป่าชุมชนและป่าเศรษฐกิจ เช่น ส่งเสริมการปลูกหวาย งาม้อน มะม่วงหิมพานต์ ไปแล้ว 87,865 ไร่ โดยร่วมกันปลูกต้นไม้และไม้เศรษฐกิจไปแล้วไม่น้อยกว่า 7.5 ล้านต้น ซึ่งจะดึงความสมบูรณ์ทางธรรมชาติกลับมาและสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้ในระยะยาวต่อไป
การดำเนินงานในอนาคต
คณะกรรมการสถาบันส่งกเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เห็นชอบที่จะยกระดับการทำงานไปสู่การทำให้การพัฒนาชนบทเกิดความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ โดยยึดโยงประสบการณ์จากพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งจะดำเนินการในระหว่างปี 2559-2563
ช่วงเริ่มต้น ปิดทองหลังพระฯ จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดการความรู้ ออกแบบหลักสูตร และสร้างนักพัฒนา ซึ่งจะขยายจากขอนแก่นไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอนาคต พร้อมกันนี้ ยังร่วมกันสร้างต้นแบบการเรียนรู้ขึ้นในตำบลทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
ปิดทองหลังพระฯ ได้ร่วมงานกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ส่งเสริมเยาวชนร่วมสร้างสังคม โดยล่าสุดได้ทำความตกลงกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่มีเจตนาจะนำความรู้พร้อมนักศึกษาจากภายในรั้วมหาวิทยาลัยมาร่วมต่อยอดการพัฒนาในทุกพื้นที่ของปิดทองหลังพระฯ
นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับมูลนิธิรากแก้ว กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เข้าสู่การร่วมพัฒนาชนบท ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาของประเทศและส่งเสริมประสิทธิภาพการปฏิรูปการบริหารท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป