ฉะเชิงเทรา - ผอ.สำนักอนุรักษ์ที่ 2 สั่งพับเก็บแผนต้อนช้างคืนสู่ป่าทั้งหมดแล้ว หลังมีเจ้าหน้าที่ถูกช้างเหยียบเสียชีวิต ระบุหลังเสร็จสิ้นงานพิธีศพ จนท.ต้องปรับกระบวนการต้อนช้างกลับป่าตั้งแต่ต้น ด้วยการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่ทางเจ้าหน้าที่กันใหม่เพื่อตอกย้ำถึงความเข้าใจ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับวินัยในการปฏิบัติงานตามคู่มือ เพื่อลดความเสี่ยง และการสูญเสียไม่ให้เกิดขึ้นอีก
วันนี้ (4 มี.ค.) นายอยู่ เสนาธรรม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ภาคตะวันออก 4 จังหวัดตอนล่าง (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และตราด) กล่าวถึงผลการประชุมหารือเพื่อปรับแผนการต้อนช้างกลับคืนสู่ป่าในระดับปฏิบัติการว่า ในขณะนี้ได้สั่งพักแผนการต้อนช้างกลับป่าเดิมไว้ทั้งหมดแล้ว แต่ยังคงให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่เพื่อทำการเฝ้าระวังช้างป่าไว้เหมือนเดิม โดยที่ยังไม่ต้องทำการต้อนช้างกลับ
หลังจากนี้ จะทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้อนช้างกลับคืนสู่ป่าใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อเป็นการซักซ้อมด้านวินัยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามคู่มือการปฏิบัติในการไล่ต้อนช้างป่า โดยไม่ทำในสิ่งที่นอกเหนือจากคำสั่ง เพื่อที่จะทำให้การปฏิบัติงานที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ด้วยระบบ “ซิงเกิล คอมมาน” หรือการรับฟังคำสั่งจากหัวหน้าชุดแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
โดยหลังเสร็จสิ้นงานพิธีศพของ นายไพรจิตร มุขจีน อายุ 40 ปี พนักงานราชการของสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ต้อนช้างกลับคืนสู่ป่าจนถูกช้างแม่ลูกอ่อนเหยียบจนเสียชีวิตแล้ว ก็จะเริ่มดำเนินการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กันใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้น ทั้งที่ได้เคยมีการฝึกอบรมกันมาหลายครั้งแล้ว เพื่อตอกย้ำความเข้าใจกันอีกครั้ง
ซึ่งการต้อนช้างกลับคืนสู่ป่าในครั้งต่อไปจะไม่ใช้ชาวบ้านมาร่วมโครงการอีก เพราะมีความเสี่ยงสูง และจะใช้เพียงเจ้าหน้าที่ของทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนเป็นหลักเท่านั้น โดยจะให้ชาวบ้านเป็นเพียงกองหนุน หรือคอยช่วยส่งเสบียงอาหารให้แก่ทางเจ้าหน้าที่ที่ไปเฝ้าติดตามช้าง โดยหากทางฝ่ายทหาร หรือฝ่ายปกครองจะเข้ามาร่วมก็ยังทำได้ โดยจะต้องมีการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจให้แก่ทางเจ้าหน้าที่ผู้ที่จะเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจให้ตรงกันตามคู่มือของการปฏิบัติการต้อนช้างป่า
โดยที่ในการต้อนช้างกลับป่าในโอกาสต่อไปนั้นจะไม่กระทำกันอย่างเร่งรีบ และผู้ปฏิบัติต้องมีความศรัทธาในหลักการปฏิบัติตามคู่มือการต้อนช้าง เช่น การรู้จักการสังเกตการณ์ การเรียนรู้ในลักษณะของช้างจนสามารถแยกแยะได้ว่า ช้างที่พบเห็นนั้นเป็นช้างลักษณะใด มีรูปพรรณ สัณฐานแบบไหน โดยจะต้องแยกให้ออกว่าเป็นช้างเพศผู้ หรือเพศเมีย ช้างตั้งท้อง หรือเป็นช้างแม่ลูกอ่อนหรือไม่ เพื่อที่จะได้เพิ่มความระมัดระวังกันมากยิ่งขึ้น