xs
xsm
sm
md
lg

สำเร็จ! “โครงการปล่อยกุ้งก้ามกราม” ลงแหล่งน้ำธรรมชาติทำชุมชนพัทลุงสู่ความยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
พัทลุง - ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพัทลุง ร่วมกับชาวบ้านเร่งฟื้นฟูปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ภายใต้ “โครงการปล่อยกุ้งก้ามกราม” ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติติดต่อกันเป็นปีที่ 8 จนกลายเป็นแหล่งต้นทุนทางอาหาร และสร้างอาชีพเสริมให้แก่ชาวบ้าน

 
วันนี้ (17 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุงว่า โครงการปล่อยกุ้งก้ามกรามตามแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ถือเป็นอีกโครงการของความสำเร็จในการพลิกฟื้นธรรมชาติ จากแหล่งน้ำ ให้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน จากที่ก่อนหน้านี้ แหล่งน้ำหลายแห่งขาดความอุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำกุ้ง หอย ปู ปลา หาได้ยากมากขึ้น แต่หลังจากที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพัทลุง ได้ร่วมกับชาวบ้านเร่งฟื้นฟูปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ทำให้แหล่งน้ำหลายแห่งกลายเป็นแหล่งต้นทุนทางอาหาร และสร้างอาชีพเสริมอีกทางหนึ่งของชาวบ้าน

 
นายดลเราะหมาน นุ่มอุ้ย ประมงอาสาบ้านทุ่งเหรียง ม.2 ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ทางสถานีพัฒนาและวิจัยประมงน้ำจืดพัทลุง ได้ร่วมกับชาวบ้าน ม.2 และ ม.8 บ.ทุ่งเหรียง ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ปล่อยกุ้งก้ามกรามลงในแหล่งน้ำ โดยโครงการเริ่มเมื่อปี 2550 ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้เป็นปีที่ 8 ซึ่งทำการปล่อยทุกเดือน มิ.ย. ของทุกปี ครั้งละประมาณ 300,000-400,000 ตัว และปัจจุบันหลังจากที่ได้ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำทำให้แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

 
นายดลเราะหมาน ยังกล่าวอีกว่า คลองส้านแดง และคลองท่าเชียด เป็นคลองน้ำจืดมีต้นน้ำจากเทือกเขาบรรทัด ลงสู่ปลายน้ำทะเลสาบสงขลา ทำให้กุ้งก้ามกรามที่ปล่อยเจริญเติบโตเร็ว กุ้งก้ามกรามจับได้ตลอดในฤดูกาล ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงขณะนี้ และดำเนินการจับกุ้งรูปแบบอนุรักษ์ เพื่อรักษาเอาไว้ชั่วลูกหลานทำให้หลายๆ หมู่บ้านในพื้นที่ 3 อำเภอ เช่น อ.ตะโหมด อ.เขาชัยสน และ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง สามารถจับบริโภค และนำจำหน่ายได้ จนสร้างเป็นอาชีพเสริมที่มีรายได้ จากการประเมินผลขั้นต่ำมีเงินหมุนสะพัดไม่ต่ำกว่า 540,000 บาทต่อปี



 
ด้าน นายวิชัย วัฒนากุล ผอ.สถานีวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพัทลุง กล่าวว่า โครงการปล่อยกุ้งก้ามกราม และปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดนี้ให้เป็นโครงการถาวรในการฟื้นฟูแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เพราะเป็นการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ สามารถเป็นตลาดที่สำคัญ และยังเป็นแหล่งอาหารของชุมชนไว้บริโภคอีกด้วย และชาวบ้านได้ประโยชน์ร่วมกันอนุรักษ์จากโครงการนี้เป็นอย่างมาก ทำให้โครงการปล่อยกุ้งก้ามกรามประสบความสำเร็จขึ้นมาได้


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น