xs
xsm
sm
md
lg

กระบี่หนุนฟาร์มเลี้ยงแพะรุกตลาดผู้บริโภคอาหารฮาลาล รับประชาคมอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กระบี่ รับงบ 12 ล้าน รุกโครงการผลิตและกระจายพันธุ์แพะเนื้อเพื่อผลิตอาหารฮาลาล บริการนักท่องเที่ยว แก้ปัญหาการขาดแพะเนื้อพันธุ์ดีที่จะใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ สร้างมูลค่าสินค้าทางการเกษตร รองรับประชาคมอาเซียน

วันนี้ (12 มี.ค.) นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า จังหวัดกระบี่ โดยสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์กระบี่ ได้รับงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประจำปี พ.ศ.2558 ดำเนินงานโครงการศูนย์ผลิตและกระจายพันธุ์แพะเนื้อเพื่อผลิตอาหารฮาลาลบริการนักท่องเที่ยว วงเงิน 12,057,900 บาท (สิบสองล้านห้าหมื่นเจ็ดพันเก้าร้อยบาท) ซึ่งการดำเนินงานจะประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1 ศูนย์ผลิตและกระจายแพะพันธุ์ดีสู่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน งบประมาณ 11,826,700 บาท

ซึ่งคณะกรรมการประเมินฟาร์มเครือข่ายระดับเขต คัดเลือกเกษตรจากฟาร์มเครือข่ายที่ผ่านการอบรม จำนวน 1 ฟาร์มต่อจังหวัด เมื่อคณะกรรมการตรวจประเมินความพร้อมของฟาร์มเครือข่ายที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว จะดำเนินการให้ฟาร์มเครือข่ายทำสัญญาการผลิตแพะกับสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์กระบี่ โดยต้องระบุในสัญญาว่า จะเลือกเลี้ยงแพะพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้น สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์กระบี่ผลิตพ่อแม่พันธุ์แพะ อายุ 8 เดือน และจำหน่ายให้แก่ฟาร์มเครือข่ายโดยจะจำหน่ายในราคาของกรมปศุสัตว์ ให้แก่ฟาร์มเครือข่าย จำนวน 11 ตัวต่อฟาร์ม (ตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 10 ตัว) หลังจากนั้น ฟาร์มเครือข่ายจะนำแพะที่ได้ไปเลี้ยงเพื่อผลิตเป็นลูกแพะ จำหน่ายให้แก่เกษตรกรเครือข่ายรายอื่นๆ ต่อไป

กิจกรรมที่ 2 การฝึกอบรมเกษตรกรเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกร หลักสูตร “การพัฒนาเกษตรกรเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์” งบประมาณ 231,200 บาท

ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวเกษตรกรมีความต้องการเป็นอย่างมาก ถ้าหากไม่ดำเนินการอาจจะทำให้เนื้อแพะสำหรับบริโภคในพื้นที่ขาดแคลน อีกทั้งรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อจะให้เกษตรกรเลี้ยงแพะเนื้อเพื่อการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีความต้องการแพะเนื้อสูง เช่น มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย และเป็นการพัฒนาระบบการผลิตการปศุสัตว์ให้สอดคล้อง และได้มาตรฐานสากลตรงตามเงื่อนไขประเทศคู่ค้า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในพื้นที่ มีรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น