สุโขทัย - เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 6 ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ พร้อมเครื่องประดับเก่าแก่ท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยแม่กองค่าย-แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด คาดมีอายุไม่ต่ำกว่า 2,500 ปี เชื่อช่วยยืนยัน “สุโขทัย” เป็นแหล่งชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์-ก่อนตั้งกรุง
วันนี้ (25 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการเคลื่อนย้ายโครงกระดูกมนุษย์โบราณอายุราว 2,500 ปี มาเก็บรักษาและทำการวิจัยโดยละเอียดอีกครั้ง ที่บริเวณสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย หลังจากมีการขุดค้นได้ที่บริเวณ “เด่นวังผา” ท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยแม่กองค่าย หมู่ 2 บ้านวังหาด ต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอย
นางนงคราญ สุขสม นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย เปิดเผยว่า การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 2 โครงจากแหล่งโบราณคดีบ้านวังหาดในครั้งนี้ เป็นผลจากการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ของภาคเหนือตอนล่าง เพื่อจะศึกษาเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อนยุคสุโขทัย ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าก่อนมีการตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นมา บริเวณพื้นที่ของสุโขทัยเคยมีชุมชนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว
จากการขุดค้นก่อนหน้านี้ก็พบว่าแหล่งโบราณคดีที่บ้านวังหาด ต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย เป็นชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะมีการขุดพบเครื่องมือหินกะเทาะ รวมถึงมีลักษณะของการผลิตเครื่องมือหินขัด และมีการใช้เครื่องมือเหล็กด้วย
ด้านนายธีรศักดิ์ ธนูศิลป์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการขุดค้นครั้งนี้ เปิดเผยว่า การขุดค้นทางโบราณคดีบ้านวังหาดเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 59 ที่ผ่านมา และขุดเจอโครงกระดูกมนุษย์โบราณ 2 โครง ความสูงประมาณ 170 เซนติเมตร ถูกฝังอยู่ในดินลึกประมาณ 1 เมตร 10 เซนติเมตร
ในหลุมฝังศพยังพบมีเครื่องอุทิศเป็นภาชนะดินเผา เช่น หม้อก้นกลมลายเชือกทาบ และลายขูดขีด กับแวดินเผา เครื่องมือที่ใช้ทำเส้นใยทอผ้า รวมทั้งมีเครื่องมือโลหะอย่างใบหอก เหล็กสกัด พร้อมเครื่องประดับ เช่น ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว และต่างหูที่ทำจากหินกึ่งมีค่า ถูกฝังไว้พร้อมกันอีกด้วย คาดมีอายุราว 2,500 ปี
นายธีรศักดิ์เผยอีกว่า การขุดเจอโครงกระดูกมนุษย์พร้อมกับสิ่งของเครื่องใช้โบราณครั้งนี้มีความสำคัญและเป็นที่น่ายินดีอย่างมาก เพราะเป็นหลักฐานยืนยันการมีอยู่ของชุมชน ทำให้เห็นถึงความเชื่อ และวิถีชีวิตในชุมชน รวมถึงเป็นการเพิ่มเติมข้อมูลในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์อีกด้วย