ประจวบคีรีขันธ์ - ชาวนาสามร้อยยอด หันมาปลูกพืชหมุนเวียนใช้น้ำน้อยทดแทน หลังไม่สามารถทำนาได้ เนื่องจากประสบภัยแล้ง เขื่อนปราณบุรีแหล่งน้ำขนาดใหญ่งดส่งน้ำเพื่อทำการเกษตร ขณะที่ชาวนาแนะภาครัฐควรหาตลาดจำหน่ายสินค้า และตลาดรองรับพืชผลทางการเกษตรที่เป็นหลักให้ชัดเจน ราคาเป็นธรรมเพื่อให้เกษตรกรมั่นใจในการผลิตสินค้าดีกว่าการให้เงินกู้ยืมซึ่งจะกลายเป็นภาระหนี้สินในภายหลัง
วันนี้ (18 ก.พ.) จากสภาวะปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบในทุกพื้นที่ และยังคงรุนแรงยาวนานกว่าทุกปี ส่งผลให้เกษตรกรผู้ทำนาปลูกข้าวในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต้องหยุดการทำนาลงกันแบบระยะยาวทั้งนาปี และนาปรัง เนื่องจากเขื่อนปราณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่เคยใช้สำหรับทำการเกษตรเหลือน้ำในปริมาณน้อย โดยทางเขื่อนปราณบุรี ได้หยุดส่งน้ำเพื่อทำการเกษตรมาระยะหนึ่งแล้ว ส่งผลให้ภาคการเกษตรขาดแคลนน้ำ
นายมงคล จอมพันธ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัด และอำเภอต่างๆ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการพบปะ และชี้แจงเกษตรกรให้ปรับตัวหันมาปลูกพืชที่ทนแล้ง และใช้น้ำน้อย เพื่อสร้างรายได้ในการยังชีพเลี้ยงครอบครัวได้แทนการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชตระกูลแตง ตระกูลถั่ว พืชไม้เลื้อย และพืชอายุสั้นที่สามารถให้ผลผลิตได้ไวทันต่อการออกจำหน่ายสู่ตลาด
โดยเฉพาะพืชผักสวนครัวที่สามารถสร้างรายได้เสริมในช่วงฤดูแล้งได้ดี ทั้งยังลงทุนน้อยให้ผลผลิตไวมีรายได้หมุนเวียนชัดเจน และยังสามารถบรรเทาค่าใช้จ่ายในครอบครัว โดยขอให้ยึดหลักแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการปลูกกินส่วน ที่เหลือนำไปขายสร้างรายได้
ขณะเดียวกัน น.ส.สุดารัตน์ ยางน้อย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หมู่บ้านนาปุ่มมีประชาชนทั้งหมด 205 ครัวเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ แต่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านมีอาชีพทำนาปลูกข้าว โดยปกติแล้วชาวนาที่นี่จะปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง ทั้งนาปี และนาปรัง ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ชาวนาทำนาได้ปีละครั้งเท่านั้น แต่ในปีนี้แล้งหนักมากทำให้ชาวนาต้องหยุดทำนาร้อยเปอร์เซ็นต์
น.ส.มุกดา บุญกอง อายุ 33 ปี เกษตรกรหมู่ 2 บ้านนาปุ่ม ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เดิมที่บริเวณแถบนี้นทุกพื้นที่จะทำนากันทั้งหมด โดยจะใช้น้ำจากเขื่อนปราณบุรี แต่ตอนนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนทราบว่าเหลือน้อยไม่เพียงพอที่จะทำนากันได้ จึงทำให้ชาวนาส่วนใหญ่ว่างงานต้องออกหางานรับจ้าง หรือไม่ก็ทดลองทำการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ซึ่งตนก็ได้ปรับเปลี่ยนจากการทำนามาปลูกพืชหมุนเวียนแทน หรือพืชที่ใช้น้ำน้อยที่สุด และลงทุนน้อยกว่าการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งใช้พื้นที่ไม่มากดูแลง่าย และให้ผลผลิตไว
โดยตนมีพื้นที่ทำนาอยู่ 50 ไร่ ได้แบ่งปลูกกล้วยหอมทอง กล้วยหอมกะเหรี่ยง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน ส่วนแตงกวา ถั่วฝักยาว แตงโม ฟักทอง พริก จะใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือน และใช้น้ำน้อยเพียงร้อยละ 40 ของการปลูกข้าว สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสามารถปลูกหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย ตลอดจนยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนไปได้มากเนื่องจากปลูกเอง ซึ่งตอนนี้ก็มีชาวบ้านให้ความสนใจ และหันมาปลูกพืชหมุนเวียนเหมือนตนเองอีกหลายราย ถือเป็นการสร้างรายได้ที่เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดีอีกหนึ่งช่องทางหนึ่งในช่วงที่ต้องประสบต่อปัญหาภัยแล้ง
เกษตรกรรายนี้กล่าวอีกว่า สิ่งที่ชาวนาอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแล และสนับสนุนมากกว่าการให้เงินกู้ยืมซึ่งจะกลายเป็นภาระหนี้สินในภายหลัง คือ การหาตลาดจำหน่ายสินค้าและตลาดรองรับพืชผลทางการเกษตรที่เป็นหลักให้ชัดเจน ราคาเป็นธรรมเพื่อให้เกษตรกรมั่นใจในการผลิตสินค้าว่ามีตลาดรองรับที่มั่นคง แน่นอน อันจะส่งผลให้การดำเนินการตามนโยบายในการช่วยเหลือเกษตรกร การแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่ภาครัฐเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด และเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ในอนาคตอีกด้วย