พัทยา - กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแลกเปลี่ยนทัศนคติในการมีส่วนร่วมป้องกันภัยค้ามนุษย์
วันนี้ (17 ก.พ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้สู้ภัยค้ามนุษย์ ภายใต้โครงการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ผู้แทนหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องต่อการค้ามนุษย์ในพื้นที่ และสื่อมวลชนจากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมการสัมมนา
โดยมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแลกเปลี่ยนทัศนคติในการมีส่วนร่วมป้องกันภัยค้ามนุษย์ ณ โรงแรมชลจันทร์ รีสอร์ท พัทยา โดยมี น.ส.อุไร เล็กน้อย ผู้อำนวยการกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ เป็นผู้เปิดงาน และยังมีอาจารย์ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช กรรมการบริหารสภาทนายความ มาบรรยายเรื่องกฎหมายอีกด้วย
น.ส.อุไร เล็กน้อย ผู้อำนวยการกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยมีความซับซ้อนหลากหลาย และครอบคลุมทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ซึ่งมีการลักลอบขนย้ายคนข้ามประเทศเข้ามาอย่างผิดกฎหมายเพื่อมาแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การแสวงหาประโยชน์จากการบังคับค้าประเวณี การแสวงหาประโยชน์จากการบังคับเป็นขอทาน การใช้แรงงานทาสในโรงงานอุตสาหกรรม หรือแรงงานในเรือประมง เป็นต้น
รวมทั้งกรณีการอุ้มบุญ ซึ่งกำลังเป็นข่าวอยู่ในเวลานี้ก็เป็นวิธีการหนึ่งของการค้ามนุษย์เช่นกัน ในหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการหลายด้านเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการทางด้านนโยบาย กฎหมาย สังคม และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนองค์กรต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายในการทำงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์
ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้พยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการใช้ช่องทางสายด่วนศูนย์ประชาบดี 1300 เป็นช่องทางในการรับแจ้งเบาะแส และการทำงานในรูปแบบสหวิชาชีพ โดยพร้อมออกไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที โดยมีบ้านพักเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ
รวมทั้งสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ เป็นหน่วยงานหลักในการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างครบวงจร และเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ สิ่งที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ การรณรงค์ให้ประชาชนทุกภาคส่วนเกิดค่านิยมที่ถูกต้อง และตระหนักถึงปัญหา มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถป้องกันตัวเองจากภัยการค้ามนุษย์ได้ โดยเริ่มตั้งแต่กลุ่มเด็ก และเยาวชน กระทรวงฯ จึงได้จัดทำ “โครงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์”