กาฬสินธุ์ - อำเภอร่องคำร่วมกับเทศบาลตำบลร่องคำจัดงานมหกรรมเส็งกลองร่องคำ แข่งขันประชันกลองพื้นบ้านอีสาน กระตุ้นการท่องเที่ยววิถีถิ่น วิถีไทย สืบสานประเพณีการละเล่นกลองพื้นบ้านอีสาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สนามหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลร่อง อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ นายสุรพจน์ รัชชุศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสัมฤทธิ์ กิตติโชติสุขสงค์ นายอำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ นายพูลสวัสดิ์ นาทองคำ นายกเทศมนตรีตำบลร่องคำ นายจงกลรัตน์ ดอนโอฬาร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนกว่า 2,000 คน ร่วมกันเปิดงานมหกรรมเส็งกลองร่องคำ แข่งขันประชันกลองพื้นบ้านอีสาน
ทุกหน่วยงานร่วมกันจัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณี และส่งเสริมการละเล่นกลองพื้นบ้านอีสาน ตลอดจนเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยววิถีถิ่น วิถีไทย อีกทั้งยังเป็นการขยายตลาดในการจำหน่ายผลผลิตทั้งด้านพืช และสัตว์ ของเกษตรกรในโครงการพัฒนาหนองเลิงเปือยอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกลุ่มอาชีพในพื้นที่
กิจกรรมมีการแข่งขันประชันกลองและการโชว์กลองประเภทต่างๆ ที่เดินทางมาจากทุกภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการแข่งขันกลองเส็งหน้าแคบ การแข่งขันกลองเส็งหน้ากว้าง การแข่งขันกลองยาว การโชว์กลองยาวภาคกลาง การโชว์กลองวงภาคใต้ การโชว์กลองสะบัดชัยภาคเหนือ การโชว์รำไหว้ครูกลองเส็งหน้ากว้าง และการโชว์กลองตุ้ม
อีกทั้งยังมีขบวนรำแห่กลองของแต่ละชุมชนไปตามถนนสายต่างๆ ในอำเภอร่องคำ ซึ่งสร้างสีสันและความสนุกสนานให้แก่ผู้มาร่วมงานเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ภายในงานยังมีการประกวดผลผลิตทางการเกษตร ทั้งพืช และสัตว์ จากกลุ่มเกษตรกรในโครงการพัฒนาหนองเลิงเปือยอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกลุ่มอาชีพในพื้นที่ การออกร้านจำหน่ายสินค้าโอทอป ซึ่งเป็นการขยายตลาดสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรอีกด้วย
นายพูลสวัสดิ์ นาทองคำ นายกเทศมนตรีตำบลร่องคำ กล่าวว่า กลองเส็งเป็นกลองที่มีมาแต่ยุคโบราณ ซึ่งนิยมเล่นกันในงานบุญประเพณีต่างๆ ต่อมาได้นำมาตีเพื่อการแข่งขัน โดยวัดระดับความดังของเสียง เรียกว่า เส็งกลอง
คำว่า “เส็ง” ในภาษาอีสานหมายถึง การแข่งขัน ศูนย์กลางการแข่งขันคือวัด และจะเก็บกลองไว้ที่วัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน
สำหรับงานมหกรรมเส็งกลองร่องคำ แข่งขันประชันกลองพื้นบ้านอีสาน นอกจากจะเป็นการร่วมกันอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่น และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างเครือข่ายด้านการอนุรักษ์กลองเส็งให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายแล้ว
การแข่งขันเส็งกลองยังเป็นการทำให้เกิดความรัก สามัคคีกลมเกลียวกันของคนในหมู่บ้าน และเป็นการแสดงออกถึงความสามารถในด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านในการทำกลองเส็งและอุปกรณ์การเล่นอีกด้วย