เชียงราย - เครือข่ายสวนยางเชียงรายไม่สนโครงการรับซื้อยางของรัฐบาล เหตุสถานที่รับซื้อห่างไกลจากพื้นที่ปลูก ไม่คุ้มต่อค่าขนส่ง อีกทั้งราคาและปริมาณที่รับซื้อก็น้อยเกินไป ระบุหันไปใช้วิธีรวมตัวแล้วประมูลขายกันเองคุ้มกว่า
วันนี้ (5 ก.พ.) จากกรณีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดรับซื้อยางพาราเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานรัฐ (100,000 ตัน) ในราคาที่สูงและเป็นธรรมนั้น สำหรับทาง กยท.เชียงราย ได้ประชาสัมพันธ์การรับซื้อไปยังกลุ่มเกษตรที่เป็นสมาชิก กยท.ทั้งเรื่องการซื้อยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 กิโลกรัมละ 45 บาท น้ำยางสดกิโลกรัมละ 42 บาท และยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 41 บาทหรือหากเปียกราคาจะอยู่ราว 21-23 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ๆ ละ 10 กิโลกรัม รวมแล้วไม่เกิน 150 กิโลกรัม แต่หากเป็นยางก้อนถ้วยเปียกน้ำหนักยางโดยประมาณ 250-270 กิโลกรัม
โดยรับซื้อตั้งแต่วันที่ 1-5 ก.พ.โดยวันที่ 1 ก.พ.รับซื้อที่บ้านช่องลม ม.3 ต.ดอนศิลา อ.เวียงชัย และที่บริษัท เชียงราย ยางพาราเซ็นเตอร์ จำกัด ม.10 ต.แม่ลอย อ.เทิง วันที่ 2 ก.พ.ที่บริษัทเชียงราย ยางพาราเซ็นเตอร์ จำกัด วันที่ 3 ก.พ.ที่บ้านช่องลม และบริษัท เชียงราย ยางพาราเซ็นเตอร์ จำกัด วันที่ 4 ก.พ.กลุ่มร้องหัวฝาย ม.12 ต.ห้วยซ้อ อ.เชียงของ และบริษัท เชียงราย ยางพาราเซ็นเตอร์ จำกัด และวันที่ 5 ก.พ.รับซื้อที่กลุ่มป่าตึง ม.5 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน กลุ่มห้วยไร่ ม.1 ต.ปงน้อย อ.ดอยหลวง และบริษัท เชียงราย ยางพาราเซ็นเตอร์ จำกัด
อย่างไรก็ตาม นายสุวิทย์ ใหม่ธิ ประธานเครือข่ายชาวสวนยางพารา จ.เชียงราย กล่าวว่า การรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรตามโครงการดังกล่าวคงไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรระดับฐานรากได้อย่างเต็มที่ เพราะพื้นที่ จ.เชียงราย มีพื้นที่ที่ปลูกยางพารารวมกันทั้งหมดประมาณ 500,000 ไร่ แต่เป็นเกษตรกรระดับฐานรากที่แท้จริงประมาณ 20,000 ไร่ ที่เหลือเป็นของกลุ่มทุนรายใหญ่ต่างๆ สำหรับพื้นที่ของเกษตรกรก็อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถเก็บผลผลิตได้แล้วประมาณ 100,000 ไร่ ทั้งหมดกระจายไปอยู่ทั้ง 18 อำเภอของจังหวัดและเฉพาะที่อยู่ในเครือข่ายของตนก็มีประมาณ 50,000 ไร่แต่ละรายเก็บน้ำยางได้วันละประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อไร่ซึ่งถือว่ามีปริมาณมาก
“เมื่อพิจารณาจากจำนวนจุดที่รับซื้อซึ่งส่วนใหญ่จะรับซื้อกันที่เขต อ.เทิง ถือว่าไกลจากแหล่งปลูกของเกษตรกรมาก และเมื่อยิ่งเปรียบเทียบกับปริมาณที่กรีดน้ำยางได้แต่กลับถูกกำหนดให้นำไปขายได้เพียงรายละไม่เกิน 150 กิโลกรัม จึงถือว่าไม่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจุดรับซื้อและต้องขนผลผลิตเพียงน้อยนิดไปขาย ทางออกจึงควรเพิ่มจุดรับซื้อให้กระจายทั่วพื้นที่มากกว่านี้”
ดังนั้น ในวันที่ 6 ก.พ.นี้ เครือข่ายจะมีการรวบรวมผลผลิตเพื่อนำมาประมูลราคาสำหรับช่วยเหลือกันภายในกลุ่มเหมือนเดิม โดยกำหนดจุดประมูลกันที่ ต.ดงมหาวัน อ.เวียงเชียงรุ้ง คาดว่าจะมียางก้อนถ้วยรวมกันได้ประมาณ 20 ตัน ราคาน่าจะได้กิโลกรัมละประมาณ 15 บาท แต่ก็ถือว่าคุ้มทุนกว่าเพราะกำหนดจุดรับซื้อเองได้ทำให้ขนส่งกันไม่ไกลเกินไป