ฉะเชิงเทรา/ระยอง - ชาวสวนยางเมืองแปดริ้วเศร้า หลังนำยางพาราออกขายให้แก่หน่วยงานรัฐในจุดรับซื้อ แต่ผลผลิตกลับไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามข้อกำหนด ทำบางรายสิ้นหวัง ขณะที่บรรยากาศการรับซื้อยางในระยอง วันแรกเป็นไปอย่างเงียบเหงา โดยมีเกษตรกรนำยางเข้ามาขายเพียง 4 ราย
วันนี้ (25 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการรับซื้อยางพราราจากเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดฉะเชิงเทรา บริเวณจุดรับซื้อยางแผ่นรมควัน สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสนามชัยเขต อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และบริเวณจุดรับซื้อยางพาราตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลอีกหลายแห่งในพื้นที่ พบว่า เป็นไปอย่างคึกคักโดยมีเกษตรกรนำยางแผ่นดิบรมควันออกมาขายยังจุดรับซื้อตามที่ได้ลงทะเบียนไว้หลายราย
แต่หลังจากได้นำผลผลิตออกขาย กลับพบว่า มีเกษตรกรจำนวนมากต้องพบกับความผิดหวัง เพราะผลผลิตไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่รัฐบาลกำหนดไว้
นางหงษ์ษา เผือกรอด เกษตรกรชาวสวนยางในอำเภอพนมสารคาม กล่าวว่ารู้สึกผิดหวังต่อมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางพาราในครั้งนี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระบุว่า ยางแผ่นรมควันของตนมีเม็ดฟองอากาศซึ่งเป็นจุดเล็กๆ จึงทำให้ไม่สามารถรับซื้อได้ตามราคาที่รัฐบาลกำหนด จึงอยากให้รัฐบาลผ่อนผัน หรือคัดเกรดแบ่งเป็นชั้นราคาตามคุณภาพ เพราะตน และคนในครอบครัวตั้งใจที่จะทำยางแผ่นให้ได้คุณภาพชั้นหนึ่งอยู่แล้ว แต่เมื่อถึงเวลาที่ผลผลิตออกกลับมีเม็ดฟองอากาศที่เกิดจากการกวนน้ำยางมากเกินไป
“ครั้งแรกที่ได้ยินข่าวว่ารัฐบาลจะให้การช่วยเหลือชาวสวนยางด้วยการรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 45 บาท ก็รู้สึกดีใจ จึงได้เตรียมเอายางแผ่นออกมาขาย แต่พอมาถึงก็รู้สึกผิดหวัง และต้องเสียเวลาขนยางแผ่นดิบเดินทางออกมาขายยังในจุดรับซื้อในอำเภอพนมสารคาม แต่ผลผลิตกลับขายไม่ได้เลย” นางหงษ์ษา กล่าว
เช่นเดียวกับ น.ส.ณัฐรินทร์ ธนาโชติกิตติวงษ์ ที่กล่าวว่า โครงการดังกล่าวไม่ใช่การช่วยเหลือในระยะยาว อีกทั้งเกษตรกรแต่ละรายก็สามารถนำผลผลิตออกมาขายได้แค่เพียงรายละไม่เกิน 150 กิโลกรัมเท่านั้น จึงวอนให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรแบบระยะยาว ด้วยการนำยางพารามาใช้ในประเทศให้ได้มากที่สุด หรือนำไปผลิตเป็นสินค้าเพื่อส่งออกโดยใช้ยางพารา ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือที่ยั่งยืนมากกว่า
ที่ระยอง เกษตรกรชาวสวนยางนำยางออกขายเพียง 4 ราย
โดยผู้สื่อข่าวในจังหวัดระยอง รายงานบรรยากาศการรับซื้อยางพาราในโครงการของรัฐบาลที่บริเวณจุดรับซื้อสหกรณ์นิคมเขาพนมสาร์ท อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ในวันแรกว่า เป็นไปอย่างเงียบเหงา โดยมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ต่อการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำยางพารามายังจุดรับซื้อเพียง 4 ราย และมีเจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำโดย นายวิชัย นวลจริง พนักงานสงเคราะห์สวนยาง 6 พร้อมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อ และตรวจวัดคุณภาพยาง
นอกจากนั้น ยังมี นายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ นายอำเภอบ้านค่าย นายปรีชา กลีบสุข เกษตรและสหกรณ์จังหวัดระยอง นายโสภณ บูรประทีป เกษตรอำเภอบ้านค่าย พ.ต.ท.สังวาล ยังดี รอง ผกก.ป.สภ.หนองกรับ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความเรียบร้อย
นายปรีชา กลีบสุข เกษตรและสหกรณ์จังหวัดระยอง กล่าวว่า สาเหตุที่เกษตรกรนำยางเข้าร่วมโครงการในวันแรกจำนวนไม่มากเพราะยังไม่มีความเข้าใจ เนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์ว่า จะรับซื้อน้ำยาง ยางก้นถ้วย และยางแผ่นเกรด 3 ซึ่งในส่วนจังหวัดระยอง ยังไม่มีอุปกรณ์เก็บน้ำยาง และยางก้นถ้วย จึงรับซื้อเฉพาะยางแผ่นเท่านั้น
ขณะที่ นายเฉลา ฉิมภู ประธานสหกรณ์นิคมเขาพนมสาร์ท จำกัด กล่าวว่า เกษตรกรที่นำยางมาขายในวันนี้พบว่า คุณภาพของยางยังไม่ตรงตามข้อกำหนด รวมทั้งรายละเอียดในการเข้าร่วมโครงการมีค่อนข้างมาก จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเพิ่มปริมาณการขายอย่างน้อย 400-500 กิโลกรัมต่อครั้ง เพราะการกำหนดให้เกษตรกรนำยางมาขายให้แก่โครงการได้เพียง 150 กิโลกรัมต่อครั้งถือว่าไม่คุ้มต่อค่าใช้จ่าย