xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรสุไหงโก-ลกขึ้นทะเบียนไม่แล้วเสร็จ ปมเหตุรับซื้อยางพาราวันแรกเงียบเหงา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นราธิวาส - เกษตรกรชาว อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ขึ้นทะเบียนไม่แล้วเสร็จ ทำให้การรับซื้อยางพาราจากภาครัฐในวันแรกเงียบเหงา

วันนี้ (25 ม.ค.) สำหรับความเคลื่อนไหวการรับซื้อยางพาราของรัฐบาล 1 แสนตัน ตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐวันแรก จากพื้นที่ จ.นราธิวาส พบว่า ทางสำนักงานการยางแห่งประเทศไทย ตั้งจุดรับซื้อ 4 จุดใน 4 อำเภอ คือ อ.รือเสาะ ระแงะ เมืองนราธิวาส และ อ.สุไหงโก-ลก

โดยในวันนี้จะรับซื้อเฉพาะยางแผ่นดิบในราคากิโลกรัมละ 45 บาท ส่วนน้ำยางสด และยางก้นถ้วย จะรับซื้อในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ตามหมู่บ้านต่างๆ จากกลุ่มเกษตรกรที่ทางสำนักงานการยางแห่งประเทศไทยได้ตั้งขึ้น จากผู้สมัครมาเข้าร่วมโครงการ โดยน้ำยางดิบรับซื้อกิโลกรัมละ 42 บาท ยางก้นถ้วย รับซื้อกิโลกรัมละ 41 บาท

โดยจากการตระเวนตรวจสอบที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จุด ที่รับซื้อยางแผ่นดิบวันแรก พบว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงา ไม่มีเกษตรกรรายใดนำยางแผ่นดิบมาขายแม้แต่รายเดียว

 
จากการสอบถาม นายนิคม ณ สงขลา หัวหน้าสำนักงานการยางแห่งประเทศไทย อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่กำลังทำความเข้าใจต่อชาวบ้าน จำนวนกว่า 80 คน ทราบว่า ส่วนใหญ่ชาวบ้านอยู่ในขั้นตอนของการขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อนำหลักฐานดังกล่าวมาประกอบกับการนำยางแผ่นดิบมาขาย มิเช่นนั้นทางสำนักงานการยางแห่งประเทศไทย อ.สุไหงโก-ลก ไม่สามารถที่จะรับซื้อยางแผ่นดิบได้ โดยปัญหาดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักที่ล่าช้า ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ต้องกรอกรายละเอียดในเอกสารแทนตัวเกษตรกรที่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้

 
นอกจากนี้ นายนิคม ณ สงขลา หัวหน้าสำนักงานการยางแห่งประเทศไทย อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ยังบอกอีกด้วยว่า ปัจจุบันยางแผ่นดิบเกษตรกรผลิตเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นน้ำยางสด จะมีมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนยางก้นถ้วยมี 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลพวงจากราคายางพาราที่ตกต่ำ เพราะเกษตรกรถือว่าถ้าผลิตยางแผ่นดิบจะได้ราคาเพิ่มขึ้นเพียงนิดเดียว เมื่อเทียบกับขายน้ำยางสด และไม่ต้องเสียเวลาด้วย แถมใช้เวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ดีกว่า

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น