ราชบุรี - คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี พร้อมรองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามการขุดลอกคลองในพื้นที่ราชบุรีแก้ปัญหาภัยแล้ง เพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำช่วยเหลือด้านอุปโภคบริโภค
เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (4 ก.พ.) พล.อ.อำนาจ รอดสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคเขตตรวจที่ 4 (คณะทำงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี) และคณะ พร้อมด้วย นายธวัช สุระบาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณกำกับและปฏิบัติราชการในภูมิภาคฯ ได้แก่โครงการขุดลอกลำห้วยตะแคง บริเวณสะพานหมู่ที่ 10 เชื่อมต่อหมู่ 11 และหมู่ 12 ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี ใช้งบประมาณ 1,820,000 บาท มีชาวบ้านในพื้นที่ ต.เกาะพลับพลา มีน้ำกักเก็บไว้ใช้อุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรช่วงฤดูแล้ง โดยมี นายวิชัย ปลูกบุญทรง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 พร้อมชาวบ้านมาร่วมต้อนรับ และให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
สำหรับลำห้วยตะแคง มีความยาวประมาณ 3,300 เมตร ซึ่งจะต้องดำเนินการขุดลึกจากท้องลำห้วยเดิมลงเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1 เมตร หรือมีปริมาณดินขุดไม่น้อยกว่า 52,800 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ทางคณะยังไปตรวจสอบอีกหลายโครงการ ได้แก่ โครงการขุดลอกคลองสามเรือน-บางป่า หมู่ที่ 1-7 ต.สามเรือน อ.เมืองราชบุรี โครงการขุดลอกลำห้วยสาธารณะ (ห้วยท่าช้าง ) หมู่ 4 บ้านท่าช้าง ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง และยังตรวจเยี่ยมโครงการต่างๆ ได้ในพื้นที่อำเภอบ้านคา ได้แก่ โครงการวางท่อส่งน้ำบริเวณหมู่ที่ 3 หมู่ 7 หมู่ 14 ต.บ้านคา โครงการขุดลอกลำห้วย ขุดลอกสระเก็บน้ำ และขุดขยายสระ ในพื้นที่อำเภอบ้านคา
พล.อ.อำนาจ รอดสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคเขตตรวจที่ 4 เปิดเผยว่า มาตรวจดูโครงการต่างๆ ว่าเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่มากน้อยแค่ไหน เป็นงบประมาณที่อาจจะไม่มากนัก มีจำกัดที่ให้ลงมาเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ทางพื้นที่ยังมีงบประมาณจากโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท จากรัฐบาลอีกที่ยังคอยช่วยเหลือประชาชน โดยงบประมาณนี้จะมาช่วยเสริมในพื้นที่อีกทางหนึ่ง ซึ่งบอกจังหวัดไปว่า โครงการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำที่ใหญ่ๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ได้ ขอให้แจ้งเข้ามายังหน่วยงาน
ทั้งนี้ โครงการต่างๆ ที่เสนอถ้ามีหลักเกณฑ์เข้าองค์ประกอบ คาดว่าจะผ่านการอนุมัติใช้เวลาไม่นาน ขณะที่โครงการต่างๆ ประชาชนต้องช่วยกันดูแลเพื่อให้พื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง