xs
xsm
sm
md
lg

ปภ.สุพรรณบุรี เตรียมพร้อมรับมือวิกฤตภัยแล้งสั่งฝ่ายปกครองร่วมทหารดูแลใกล้ชิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเอกภพ จันทร์เพ็ญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี
สุพรรณบุรี - ปภ.สุพรรณบุรี เตรียมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2559 ให้ฝ่ายปกครองร่วมกับฝ่ายทหารในพื้นที่สอดส่องทำความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง และอย่าให้เกิดปัญหาความขัดแย้งจากกรณีแย่งชิงน้ำเกิดขึ้นในพื้นที่โดยเด็ดขาด

วันนี้ (20 ม.ค.) นายเอกภพ จันทร์เพ็ญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) สุพรรณบุรี จึงจัดทำแผนขึ้นมาด้วยการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งขึ้นมา และจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ด้วยการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งปรับปรุงบัญชีหมู่บ้าน และชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการประสบปัญหาภัยแล้ง

นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมกำลังคน สำรวจวัสดุอุปกรณ์ รถยนต์บรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งไว้ให้พร้อมใช้การได้ในทันที โดยให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจตรวจสอบแหล่งน้ำ รวมทั้งภาชนะกักเก็บน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้อย่างเพียงพอ สำรวจข้อมูลสถานที่ จำนวนจุดสูบน้ำ สถานีสูบน้ำ ระบบผลิตน้ำประปาที่อยู่ในความรับผิดชอบของการประปาส่วนภูมิภาค และระบบประปาชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนแหล่งน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยให้นายอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนแจกจ่ายน้ำ และให้กำหนดจุดแจกจ่ายน้ำเอาไว้บริเวณที่ประชาชนแต่ละหมู่บ้านสะดวกที่สุด

ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี จะทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และความเข้าใจต่อประชาชนให้ตระหนักถึงสถานการณ์ และข้อมูลปริมาณน้ำโดยเน้นให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย และรับทราบอย่างทั่วถึง

อีกทั้งได้กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่พบบ่อยในช่วงฤดูแล้ง ไม่ให้เกิดการขโมยพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งการรณรงค์ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการภาชนะเก็บกักน้ำ และใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างประหยัด ถูกวิธี ถูกสุขลักษณะ ปภ.จะเข้าไปสร้างความเข้าใจ และแนะแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพราะปลูกของเกษตรกร เช่น ให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หรือพืชชนิดอื่นทดแทนในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน โดยการป้องกันควบคุมโรคที่มักเกิดการระบาดในช่วงฤดูแล้งด้วย

นอกจากนี้ ปภ.สุพรรณบุรี ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินมาตรการในการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยสนับสนุน และเร่งรัดการดำเนินการตามโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 ด้วยการวางแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยการจ้างแรงงาน การฝึกอบรมอาชีพที่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตชุมชน

ปภ.จะทำการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 รวมทั้งหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรม และให้คำนึงถึงเหตุผลสภาพความเป็นจริง ซึ่งประโยชน์ของทางราชการจะต้องมีความโปร่งใส และพร้อมรับการตรวจสอบได้

โดย ปภ.สุพรรณบุรี จะให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค เป็นอันดับแรก โดยหาวิธีเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำสำคัญที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ โดยการประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดทำฝนหลวงในพื้นที่เมื่อสภาวะอากาศอำนวย

และสุดท้าย ปภ.ขอให้ฝ่ายปกครองร่วมกับฝ่ายทหารในพื้นที่ช่วยสอดส่อง ทำความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง และอย่าให้เกิดปัญหาความขัดแย้งจากกรณีแย่งชิงน้ำเกิดขึ้นในพื้นที่โดยเด็ดขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น