xs
xsm
sm
md
lg

มท.เตรียม 4 มาตรการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องที่เหนือจากการควบคุม เพราะเกิดจากปัจจัยแปรปรวนในสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกษตรกรจะได้รับผลกระทบคือ รายได้ของเกษตรกรลดน้อยลง ผลผลิตทางการเกษตรลดลง เกิดปัญหาหมอก ควัน ไฟป่า น้ำเค็ม และน้ำเสีย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประเมินความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดปัญหาเหล่านี้ ด้วยการเตรียมมาตรการรับมือปัญหาภัยแล้ง
พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า มาตรการรับมือปัญหาภัยแล้งในปี 2559 มี 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือ มาตรการช่วยเหลือเชิงป้องกัน โดยมีโครงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 786 แห่ง ในพื้นที่ประมาณ 38 จังหวัด โครงการปรับปรุง และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค จำนวน 1,593 แห่ง ในพื้นที่ 36 จังหวัด โครงการแก้มลิงกักเก็บน้ำก่อนไหลงลงสู่แม่น้ำระหว่างประเทศ จำนวน 24 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ. นครพนมมุกดาหาร หนองคาย เลย และ จ.บึงกาฬ นอกจากนี้ ยังมีการใช้อากาศยานโปรยเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าลงในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และการบินลาดตระเวน การถ่ายภาพทางอากาศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยแล้ง
ขั้นที่สองคือ มาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้า โดยมีการเตรียมความพร้อมทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการให้การสนับสนุนส่วนราชการต่างๆ และช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง นำรถบรรทุกน้ำและเรือบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายในพื้นที่ต่างๆ ใช้อากาศยานสนับสนุนกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติการฝนหลวง นอกจากนี้ยังมีการขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา เพื่อเป็นการระบายน้ำอีกด้วย
ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงภัยแล้งว่า กระทรวงมหาดไทย ได้วางมาตรการช่วยเหลือไว้ 4 มาตรการ คือ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ,มาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน, โครงการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับกลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ ขณะนี้ได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในทุกโครงการเพื่อให้เม็ดเงินได้ลงไปถึงมือของพี่น้องประชาชนในห้วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งเป็นช่วงที่คาดการณ์ว่าจะเกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรงมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น