เชียงราย - ที่ประชุม กรอ.เชียงราย ลงมติกระทุ้งรัฐบาล “บิ๊กตู่” อีกรอบ ขอเร่งอภิมหาโปรเจกต์ที่ศึกษากันมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ทั้งรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย - มอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย และแผนพัฒนาเกษตรปลอดภัย แม้นายกฯเลื่อนกำหนดตรวจราชการภาคเหนือ
วันนี้ (4 ก.พ.) นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ของเชียงราย ครั้งล่าสุด ซึ่งมีนายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธาน ได้มีการหารือกันกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเดินทางลงตรวจราชการภาคเหนือ ที่เดิมมีกำหนดไป จ.น่าน วันที่ 26 ก.พ.นี้้ ถือว่าอยู่ในเขตกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน) ด้วย
โดยผลการหารือก็จะมีการนำเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีใน 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ การก่อสร้างรถไฟสาย อ.เด่นชัย จ.แพร่-เชียงราย, การพัฒนาเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย จ.เชียงใหม่-เชียงราย และการพัฒนาการเกษตรปลอดภัย ทั้งข้าว ชา กาแฟ และปศุสัตว์เพื่อส่งออก
นายอนุรัตน์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ต่อมาจะมีข่าวว่านายกรัฐมนตรีได้เลื่อนกำหนดไปตรวจราชการภาคเหนือชั่วคราว แต่จะไปที่ จ.อุทัยธานี ก่อน ทางจังหวัดก็ได้หารือกันไว้ก่อนเพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้ รวมทั้งทบทวนโครงการหลักๆ ที่ทางจังหวัดตั้งเป้าผลักดันแต่ยังไม่มีการดำเนินการ จึงจะต้องนำเสนอต่อรัฐบาลอย่างต่อเนื่องต่อไป
โดยเฉพาะโครงการรถไฟสาย อ.เด่นชัย จ.แพร่-เชียงรายนั้น ถือว่ายืดเยื้อยาวนานมาร่วม 55 ปีแล้ว ที่ผ่านมามีการออกแบบ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ จนครบถ้วน เหลือเพียงขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณเพื่อการก่อสร้างที่อาจต้องใช้มากขึ้นกว่า 70,000 ล้านเท่านั้น ดังนั้นภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงต้องกระทุ้งให้รัฐบาลได้ดำเนินการต่อไป
นายอนุรัตน์กล่าวอีกว่า สำหรับเส้นทางมอเตอร์เวย์สายเชียงใหม่-เชียงราย ก็เป็นโครงการมาตั้งแต่ปี 2503 มีการศึกษารายละเอียดข้อดีและข้อเสียด้านต่างๆ กันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ ดังนั้น การเสนอต่อรัฐบาลก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันเรื่องการผลักดันสร้างเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะต้องมีการกระทุ้งกันต่อเนื่องเช่นกัย
ส่วนเรื่องการส่งเสริมภาคการเกษตร เป็นเพราะ จ.เชียงรายมีการค้าและเส้นทางคมนาคมติดต่อกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือจีเอ็มเอสอยู่แล้ว ดังนั้นการพัฒนาผลผลิตเหล่านี้ด้วยการแปรรูปเพิ่มมูลค่า และส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านจึงจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนืออย่างมาก