ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควง ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1-4 พร้อม ทสจ. 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกาศความพร้อมแนวทางการป้องกันปัญหาหมอกควันไฟป่า โดยผนึกกำลังทุกภาคส่วนพร้อมรับสถานการณ์เต็มที่
วันนี้ (31 ม.ค.) ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานแถลงข่าว “จิบน้ำชา จับตาหมอกควัน” ร่วมกับ นายพีระศักดิ์ มาลัยรุ่งสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 (เชียงใหม่) นายอาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 (ลำปาง) นายถาวร เพ็ชรบัว ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 (พิษณุโลก) และนายสุภาพ ชื่นบาน รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 4 (นครสวรรค์) รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และตาก
ทั้งนี้ เพื่อชี้แจง และเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเน้นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ช่องทางการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและทันเหตุการณ์ มีแนวทางการปฏิบัติที่ปลอดภัย รวมถึงแผนการดำเนินงานในช่วงวิกฤตหมอกควันในปี 2559 นี้
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์มลพิษหมอกควันในภาคเหนือที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพนามัยของประชาชน กระทบภาคการขนส่ง ธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเป็นอย่างมาก ซึ่งในปี 2558 วิกฤตหมอกควันภาคเหนือเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์
จากการตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดแรกที่พบฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีจำนวนวันที่ PM10 เกินค่ามาตรฐานเกิดขึ้นติดต่อกันยาวนานที่สุดใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนถึง 32 วัน สำหรับปริมาณ PM10 สูงสุดในปี 2558 พบที่จังหวัดเชียงราย 381 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 18 มี.ค.58
รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ในปี 2559 รัฐบาลได้ออกมาตรการในการรับมือต่อปัญหาหมอกควัน และไฟป่าภาคเหนือ โดยกำหนดให้แต่ละจังหวัดใช้กลไกประชารัฐในการแก้ไขปัญหา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจตระเวนชายแดน ภาคเอกชน และประชาชน แบ่งหน้าที่ และพื้นที่รับผิดชอบเฝ้าระวัง ระดมกำลังคน จัดหาอุปกรณ์ ระงับการเผาป่า หรือวัสดุการเกษตร จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบ และประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกร่วมกันในการป้องกันปัญหา
นอกจากนี้ ยังกำหนดพื้นที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน คือ พื้นที่เกษตรกรรม มีกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นหลัก ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอื่นๆ รณรงค์ให้มีการไถกลบตอซังและใช้สารย่อยสลายแทนการเผา ใช้กลไกควบคุมกันเองในชุมชน เช่น ประกาศเขตห้ามเผา 90 วัน
ส่วนพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหลัก ร่วมกับ มท. ตชด. ทหาร อปท. และประชาชน จัดทำแนวป้องกันไฟป่า ลาดตระเวนและบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดโดยเคร่งครัด ขณะที่พื้นที่ริมทางหลวง มีกระทรวงคมนาคมเป็นหลัก ร่วมกับ มท. ควบคุมไม่ให้มีการเผาในพื้นที่เขตทางหลวง จัดชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผาอย่างเข้มงวด
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด และมีเอกภาพ เน้นการทำงานเชิงรุก เพราะปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และการใช้ชีวิตของประชาชน รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว และหากยังเกิดไฟป่า และหมอกควันอาจจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อบรรเทาปัญหา ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคในช่วงหน้าแล้ง จึงขอความร่วมมือไปยังประชาชนในภาคเหนือ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป้องกันปัญหาหมอกควัน และไฟป่าอย่างจริงจัง