พิษณุโลก - ผู้ว่าฯ-ทหารลงดูพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า อ.วังทอง เผยนับแต่ ปี 59 เกิดไฟไหม้ 3 ครั้ง แต่ไม่รุนแรง เหตุเผาเพื่อล่าสัตว์ ชาวบ้านชอบหาไก่ป่า พบพื้นที่เสียหายรวม 400 ไร่ หน.ควบคุมไฟป่าระบุหลัง 20 ม.ค.นี้ห้ามเผาเด็ดขาด เว้นแต่ขออนุญาตเฉพาะจุด เผาได้ช่วง 4 ทุ่ม-เที่ยงคืน
วันนี้ (13 ม.ค.) นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธานเปิดกิจกรรมป้องกันรักษาป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามโครงการ สร้างเครือข่ายผู้อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่โรงแรมวังแก้ว อ.เมือง พิษณุโลก โดยมีอาสาสมัครชุมชนจาก 5 อำเภอ คือ ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย ตำบลสวนเมี่ยง อำเภอชาติตระการ ตำบลหินลาด อำเภอวัดโบสถ์ ตำบลดงประคำ อำเภอพรหมพิราม และตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง เพื่อช่วยกันเป็นหูเป็นตาแก่เจ้าหน้าที่รัฐ ดูแลเฝ้าระวังการบุกรุกจุดไฟเผาป่า และซื้อขายที่ดินของรัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมาผู้ว่าฯ และหน่วยทหารในพื้นที่รับผิดชอบอำเภอวังทอง และหัวหน้าหน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่า ซึ่งรับผิดชอบ 13 ป่าสงวนแห่งชาติในพิษณุโลก เดินทางไปดูสถานการณ์ พื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่าที่ ต.แก่งซอง อ.วังทอง บริเวณริมทางหลวงหมายเลข 12 กม.ที่ 45
ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกกล่าวว่า ห้วงเข้าสู่ฤดูแล้ง ภาคเหนือมักประสบปัญหาหมอกควันจากไฟป่า จ.พิษณุโลกเองก็ได้เตรียมแผนงาน คือ ออกประกาศขอความร่วมมือ ลดการเผา ป้องกันปัญหาไฟป่า เพราะไปสร้างมลพิษ กระทบต่อสภาพอากาศและทางเดินหายใจของร่างกาย จึงดำเนินการตามแผนกระทรวงทรัพย์ฯที่กำหนดให้ 100 วัน คุมเข้มเหมือนกับภาคเหนือ โดยกำหนดตั้งแต่วันที่ 21 มกราคมเป็นต้นไป จะต้องไม่มีการเผา จึงได้ฝากบอกไปยังอาสาสมัคร กำนันผู้ใหญ่บ้านช่วยกันดูแล ห้ามเผาป่า หากจำเป็นต้องเผาจะต้องบอกกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ล่วงหน้า และต้องขออนุญาตก่อน เพราะหากมีความเสียหาย จะมีความผิดทางอาญา
นายบรรจง ศรีใจวงศ์ หัวหน้าหน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่า รับผิดชอบ 13 ป่าสงวนแห่งชาติในพิษณุโลก เปิดเผยว่า สถานการณ์ไฟป่าตั้งแต่ปี 2559 เกิดไฟไหม้ จำนวน 3 ครั้งใน อ.วังทอง แต่ไม่รุนแรง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการล่าสัตว์ คือ ครั้งแรกไฟไหม้ที่สุสานเขาฟ้าสาเหตุเกิดจากคนเผา เพื่อล่าสัตว์ ต้องการหาไก่ป่า จุดที่ 2 คือ วัดซำเตย ในเขตติดต่อใกล้ๆ กันก็คือ เผาเพื่อล่าสัตว์เช่นกัน และไฟป่าที่ ต.ท่าหมื่นจำนวน 2 วันก็เป็นการล่าสัตว์เช่นกัน พื้นที่เสียหายรวมทั้งหมด 400 ไร่
ทั้งนี้ นโยบายจากผู้ว่าฯ และฝ่ายทหารระบุว่า นับจากวันที่ 21 มกราคมจะไม่มีการเผาเกิดขึ้น หากจำเป็นต้องเผา ต้องขออนุญาตและแจ้งล่วงหน้า จะอนุญาตให้เผาแค่ช่วง 4 ทุ่มถึงเที่ยงคืนเท่านั้น เหมือนกับ 9 จังหวัดภาคเหนือ
“กรณีชิงเผาก่อน จะต้องแจ้งหน่วยป่าไม้หรือไฟป่าด้วย เพื่อควบคุม จริงๆ แล้วหลังวันที่ 20 ม.ค.จะไม่ให้มีการเผาเกิดขึ้น กรณีเผานั้นอนุญาตให้เผาเพียงเป็นจุดเล็กๆ ไม่เกินกี่ตารางเมตร เพื่อง่ายต่อการควบคุม เพราะชาวบ้านไม่สามารถประเมินสถานการณ์หากลุกลามได้”