กาฬสินธุ์ - นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 จัดกิจกรรม “คืนลมหายใจให้วรรณกรรม” แสดงผลงานวิชาการถ่ายทอดฝีมือด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของอีสานทั้งหมอลำ เพลงกล่อมลูก นิทานก้อม และการพื้นบ้านต่างๆ มากมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาที่บ้านสวนจันทร์แก้ว ถนนสนามบิน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 และสาขาวิชาศิลปะดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน คณะศิลปนาฏดุริยางค์ วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ จัดกิจกรรม “คืนลมหายใจให้วรรณกรรม” เพื่อแสดงผลงานวิชาการการแสดงพื้นบ้านอีสานตามแนวทางอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอีสาน มีนางศิริวรรณ แก้วเพ็งกรอ อาจารย์ประจำวิชาวรรณกรรมอีสาน และดุริยคีตกรรมอีสาน นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมคืนลมหายใจให้วรรณกรรม และมีนายรณชิต พุทธลา นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ร่วมชมกิจกรรม ของนักศึกษากว่า 10 ชุดการแสดงที่ยังใช้วงดนตรีโปงลางเป็นเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบการแสดงตลอดทั้งงานที่สร้างความสนุกสนานครื้นเครงอย่างมาก
นางศิริวรรณ แก้วเพ็งกรอ อาจารย์ประจำวิชากล่าวว่า สำหรับการแสดงของนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 วิชาวรรณกรรมอีสานจะมีการแสดง 5 รายการ เป็นการถ่ายทอดการแสดงประเภทวรรณกรรมประเภทมุขปาฐะ ทั้งเพลงกล่อมลูก นิทานก้อม กาพย์เซิ้ง สารภัญญ์ เทศน์แหล่ ส่วนระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 ในวิชาคีตกรรมอีสานที่จะเป็นการถ่ายทอดการแสดง ภายหลังจากการลงพื้นที่ทำการศึกษาค้นคว้าหมอลำต่างๆ ทั้งหมอลำวาดขอนแก่น วาดกาฬสินธุ์ วาดอุบล และหมอลำเพลิน โดยนักศึกษาได้ทุ่มเทศึกษาค้นคว้าและซักซ้อมการแสดงมาตลอดภาคเรียน
ทั้งนี้ ในหลักสูตรการเรียนการสอนของสาขาวิชาศิลปะดนตรีและการแสดงพื้นบ้านอีสาน คณะศิลปะนาฏดุริยางค์ วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ ซึ่งจะยังคงไว้ในแนวทางการเรียนการสอนทั้งภาคปฏิบัติและทฤษฎีของการแสดงพื้นบ้านอีสานจากทุกๆ พื้นที่ ทั้งการร้อง การรำและศิลปะด้านอื่นๆ เป็นสายการศึกษาที่ยังอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของดีอีสานไว้ โดยนักศึกษาในทั้งหมดก็จะเป็นผู้ถ่ายทอดและเป็นคลังภูมิปัญญาในอนาคตไม่ให้มรดกวัฒนธรรมที่ดีมีเสน่ห์ของพื้นบ้านอีสานสูญหาย
นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ต้องยกย่องสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ เป็นอย่างยิ่งที่เปิดหลักสูตรศิลปะดนตรีและการแสดงพื้นบ้านอีสาน โดยนำเยาวชนอนาคตของประเทศได้เป็นผู้อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของพื้นถิ่นตนเอง การแสดงผลงานยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นอีสานแท้ๆ นักศึกษาทุกคนตั้งใจแสดงเป็นที่น่าประทับใจอย่างมาก ที่ในอนาคตวางเป้าหมายไว้ว่านักศึกษาสาขานี้จะเป็นกำลังหลักในส่วนของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมประเพณีของกาฬสินธุ์ที่จะถ่ายทอดไปสู่สาธารณชนทั่วโลกต่อไปในอนาคต