สุรินทร์ - ชาวบ้านเมืองช้างหาขุดแมงป่องนาเป็นอาหารเมนูเด็ดประทังชีวิตและแบ่งขายสร้างรายได้เสริมช่วงหน้าแล้ง เชื่อเป็นยาแก้ไข้หวัดและโรคหอบหืดได้ด้วย ชี้เป็นวิถีชีวิตมาแต่โบราณ เผยปีนี้แมงป่องมีจำนวนมาก ส่งสัญญาณบ่งบอกถึงสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงหรือยาวนานมากขึ้น
วันนี้ (25 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เข้าสู่ช่วงหน้าแล้งเกษตรกรต่างว่างเว้นจากการทำไร่ทำนาต้องหาอาชีพเสริม หลายรายเดินทางไปหางานทำยังกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพื่อหารายได้ในช่วงหน้าแล้ง ขณะเดียวกันชาวบ้านในพื้นที่บ้านทะนงรัตน์ ม.8 ต.เมืองที อ.เมือง จ.สุรินทร์ ส่วนใหญ่ต่างพากันออกเดินหาขุดแมงป่องนาตามทุ่งนา ซึ่งภาษาท้องถิ่นเขมรสุรินทร์เรียกว่า “คยา” เพื่อนำมาประกอบอาหารประทังชีวิตและแบ่งขายหารายได้เสริมในช่วงหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี
นายบรรฑิตย์ ยืนยาว อายุ 38 ปี ชาวบ้านที่ขุดแมงป่องนา อยู่บ้านเลขที่ 27 บ.ทะนงรัตน์ ม.8 ต.เมืองที อ.เมือง จ.สุรินทร์ และชาวบ้านจับกลุ่มกัน 3-5 คนเดินออกหารูแมงป่อง ซึ่งส่วนใหญ่ขุดรูซ่อนตัวอยู่ตามคันนา เมื่อได้จำนวนเท่าที่ต้องการจะนำมาแยกขนาด ตัวใหญ่กำลังตั้งท้องมีไข่จะคัดไว้สำหรับประกอบอาหารและแบ่งขาย ส่วนตัวเล็กแยกไว้เลี้ยงให้ตัวโตต่อไป นอกจากนี้ชาวบ้านยังเชื่อว่าเมื่อได้กินแมงป่องจะช่วยรักษาโรคหอบหืด และไข้หวัดได้ด้วย
นาบรรฑิตย์ ยืนยาว อายุ 38 ปี ชาวบ้านที่ขุดแมงป่องนา กล่าวว่า ในช่วงหน้าแล้งทุกปีตนและชาวบ้านมักพากันออกหาขุดแมงป่องนาตามทุ่งนาเพื่อนำไปประกอบอาหารและแบ่งขายบางส่วนให้เพื่อนบ้านในราคากันเองตัวละ 2 บาท ในช่วงนี้แมงป่องนาตัวเมียจะกำลังตั้งท้องมีไข่ รสชาติจะหอมมันอร่อย ส่วนแมงป่องตัวผู้ถึงไม่มีไข่แต่หอมมันอร่อยไม่แพ้กัน สามารถประกอบอาหารได้สารพัดเมนู ทั้งทอด ตำน้ำพริก แล้วแต่ใครจะดัดแปลง แต่ส่วนใหญ่นิยมทอด
อย่างไรก็ตาม ก่อนนำแมงป่องนาไปปรุงอาอาหารต้องแช่น้ำเกลือก่อนเพื่อทำความสะอาดล้างเศษดินสิ่งสกปรกที่ติดตัวแมงป่องนาออก ส่วนวิธีสังเกตรูของแมงป่องนา นั้นไม่ยาก รูจะมีลักษณะเป็นวงรี แตกต่างจากรูปูที่เป็นรูกลมๆ และสังเกตที่ปากรูจะพบว่าดินปากรูจะสึกและเป็นขุย ซึ่งเป็นรอยที่แมงป่องเดินเข้าออก โดยเฉพาะแมงป่องชอบออกกลางคืน ชาวบ้านบางรายก็จะออกหาส่องจับแมงป่องกลางคืนเช่นกัน
ด้าน นายศรชัย สุภิมารส นายก อบต.เมืองที กล่าวว่า ในช่วงหน้าแล้งชาวบ้านมักออกหาขุดแมงป่องนามาประกอบอาหารและขายบางส่วน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านมาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังเชื่อว่าเป็นยารักษาโรคและสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้อีกด้วย ทุกปีที่ผ่านมาแมงป่องมีจำนวนไม่มากขนาดนี้ แต่ปีนี้พบว่ามีจำนวนมากกว่าปกติ ซึ่งชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ต่างบอกว่าอาจเป็นการส่งสัญญาณบ่งบอกถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจแล้งมากขึ้นหรือยาวนานมากขึ้น