xs
xsm
sm
md
lg

คณะสงฆ์แพร่ เสนอชงเรื่องถึงยูเนสโก ยกคัมภีร์โบราณเป็นความทรงจำของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพร่ - คณะสงฆ์เมืองแพร่ พร้อมนักวิชาการ 7 หน่วยงาน ร่วมเปิดเวทีเสวนาการอนุรักษ์ การถ่ายทอดภูมิปัญญาจากคัมภีร์โบราณ “วัดสูงเม่น” ชงเสนอให้ยูเนสโกประกาศเป็นบันทึกความทรงจำของโลก ให้ความสำคัญเป็นวัดที่ 2 ในประเทศไทย

พระราชเขมากร เจ้าคณะจังหวัดแพร่ ได้เป็นประธานลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านงานวิจัย และงานศาสนาศิลปวัฒนธรรม 7 หน่วยงาน และเปิดเวทีเสวนา การสืบค้นการจัดระบบการอนุรักษ์คัมภีร์ของวัด และการถ่ายทอดภูมิปัญญาล้านนาเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นของจังหวัดแพร่ วานนี้ (22 ม.ค.) ที่วัดสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ ท่ามกลางเยาวชน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน ก่อนที่จะมีการทำบุญ “ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า” ในวันนี้ด้วย

โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานทั้ง 7 แห่ง เข้าร่วมลงนาม คือ สถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ สำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ และสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดแพร่

ซึ่งในข้อตกลงมีแนวทางส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรทั้ง 7 หน่วยงาน ด้านพัฒนางานวิชาการศาสนาและวัฒนธรรม ด้วยการทำวิจัยเพื่อการสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นของจังหวัดแพร่ น่าน เชียงใหม่ และงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ขณะที่การเสวนาเรื่อง การสืบค้นการจัดระบบการอนุรักษ์คัมภีร์ของวัด และการถ่ายทอดภูมิปัญญาล้านนาเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นของจังหวัดแพร่ ที่ประชุมมีแนวคิดร่วมกันที่จะพัฒนาการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน และพับสาโบราณ ในวัดสูงเม่น ซึ่งเป็นภาษาล้านา ให้เป็นที่รู้จัก และเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ต่อไปในอนาคต เป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปทั้งภูมิภาคอาเซียน

เนื่องจากคัมภีร์โบราณของวัดนี้มีการรวบรวมมาจากหลายแห่ง และหลายประเทศในลุ่มน้ำโขง ซึ่งชาวสูงเม่น ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง มีการรวบรวม และพัฒนาฟื้นฟูจนเป็นประเพณีขึ้นมาใหม่ได้อย่างเหมาะสม จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม

พระมหาสุทิตย์ อาภากโร ผอ.สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยวิทยาเขตแพร่ ได้เสนอให้นำผลของการทำงานตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คือ ประวัติของพระครูกัญจนาอรัญญวาสี ผู้เขียนคัมภีร์ส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นปราชญ์ของชาวสูงเม่น เมื่อ 200 ปีก่อน และคัมภีร์ที่มีอยู่ในวัดจำนวนมากยื่นต่อยูเนสโกประกาศให้ความสำคัญระดับโลก เพราะคัมภีร์ที่มีอยู่คือบันทึกความทรงจำของโลก เช่นเดียวกับวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม ที่ได้รับการบันทึกให้เป็นเอกสารบันทึกความทรงจำของโลก โดยยูเนสโกมาแล้ว ถ้าเป็นไปได้ วัดสูงเม่นจะเป็นวัดที่ 2 ของประเทศที่ได้รับการยกย่อง

นางขันทอง สุทธนา วัฒนธรรมจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ถือเป็นแนวทางที่ดีในการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ของวัดสูงเม่น ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ 1 ใน 60 ของประเทศไทย ไปสู่การประกาศให้เป็นวัดสำคัญ แหล่งเก็บเอกสารบันทึกความทรงจำในอดีตของชาวล้านนา แต่ในส่วนของท้องถิ่น ควรพัฒนาความพร้อม หลายฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกันให้คนท้องถิ่นมีความรู้เรื่องภาษาล้านนาให้มากขึ้น จนสามารถนำความรู้จากตำราโบราณเหล่านั้นมาปรับใช้ได้ด้วย จะทำให้การเสนอให้เป็นสิ่งสำคัญของโลกสำคัญขึ้นไปอีก

ซึ่งเวทีพูดคุยทางวิชาการครั้งนี้ ช่วยให้วัดได้จัดกระบวนการเรียนรู้การทำตำราโบราณ ตั้งแต่ขั้นตอนการนำใบลานมาต้มนำไปทำเป็นแผ่น การจานตัวอักษรลงในใบลาน การทำไม้แผ่นบอกเอกสารแต่ละชิ้น การห่อรักษา รวมไปถึงการนำเอาความรู้ และตำรามาเก็บรักษาด้วยระบบไอทีที่ทันสมัย พร้อมทั้งนำไปสืบทอดให้แก่เยาวชนในการเรียนรู้ภาษาล้านนา เพื่อการถอดตำราออกมาเป็นความรู้ใช้งานได้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น