xs
xsm
sm
md
lg

พระศรีสะเกษนำเด็กอาเซียน 13 ประเทศดำนาโบราณ เรียนรู้วิถีชีวิตไทยดั้งเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศรีสะเกษ- พระนำเด็กอาเซียน 13 ประเทศ( 10 บวก 3) โครงการโครงการยุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพ ภาษาและวัฒนธรรม ดำนาแบบโบราณ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมของไทยและศึกษาวิธีการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของชาวบ้านท่าคอยนางกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง 3 เชื้อชาติ คือ ลาว กูย และเขมร ในหมู่บ้านเดียว

วันนี้ ( 11 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กลางทุ่งนาบ้านท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ พระมหาหรรษา ธรรมหาโส ผู้อำนวยการสถาบันภาษา มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ได้นำเด็กและเยาวชนจากประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน 13 ประเทศ ( 10 บวก 3) จำนวน 30 คน ร่วมกันดำนาแบบโบราณ

โดยสอนให้เด็กอาเซียนรู้ขั้นตอนของการดำนาว่าต้องมีวิธีการอย่างไร เริ่มตั้งแต่การถอนต้นกล้าข้าว การไถนา การปักดำนา และการดูแลรักษา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของไทย

ทั้งนี้ เด็กเยาวชนจากกลุ่มประเทศอาเซียน ต่างพากันตื่นเต้นดีใจที่ได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนาไทยและช่วยกันดำนาอย่างสนุก แม้ดินโคลนจะเปรอะเปื้อนตามเสื้อผ้าร่างกาย แต่บรรยากาศการเรียนรู้การดำนาแบบโบราณเป็นไปอย่างสนุกสนาน มีชาวบ้านท่าคอยนางมาช่วยสอนการดำนาให้กับเด็กอาเซียนทุกคนด้วย

พระมหาหรรษา ธรรมหาโส ผู้อำนวยการสถาบันภาษา มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าวว่าโครงการยุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพภาษาและวัฒนธรรม เกิดขึ้นมาจากการที่เรามุ่งมั่นตั้งใจนำเด็กทั้ง 10 ประเทศของอาเซียนและบวก 3 คือจีน เกาหลีและญี่ปุ่น จำนวนประมาณ 30 คน เดินทางมาเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมและความแตกต่างในการอยู่ด้วยกัน

โครงการนี้มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน เนื่องจากการดำเนินการของเอเซียนที่ผ่านมาเราไม่มีการพูดถึงเด็กเท่าที่ควร พูดถึงเฉพาะผู้ใหญ่และนักการเมือง แต่เราไม่ได้คำนึงเลยว่าในเจนเนอเรชั่นต่อไป คนอาเซียนประมาณ 600 ล้านคนจะอยู่กันอย่างมีความสุขได้อย่างไร

จึงเห็นว่า การเตรียมการที่ดีที่สุดไม่ใช่เฉพาะการเตรียมการเฉพาะผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ใหญ่ก็เตรียมการไป แต่ทางมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เห็นว่าอนาคตต่อไปของอาเซียนจะขึ้นอยู่กับเยาวชน

ฉะนั้น จึงนำเอาเยาวชนมาอยู่ด้วยกัน กิจกรรมที่เด็กอาเซียนทั้งหมดมาอยู่ด้วยกัน ครั้งแรกจะพูดถึงเรื่องวัฒนธรรมว่าการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างจะอยู่กันอย่างไร เพราะในอาเซียนมีหลายภาษา หลากหลายวัฒนธรรม และหลายเชื้อชาติมาก จะอยู่กันอย่างมีความสุขได้อย่างไร

สิ่งที่เราทำคือการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหล่อหลอมวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมกลาง แต่เมื่อมาอยู่เมืองไทยก็ให้เด็กได้เรียนรู้ถึงวิถีไทยในอยุธยา ในต่างจังหวัดในกรุงเทพมหานคร และที่สำคัญคือพาเด็กลงดูพื้นที่เพราะที่มาของรวงข้าวอาเซียน คือ รวงข้าวทั้ง 10 รวงมัดรวมกัน เด็กจะรู้ที่มาที่ไปของสัญลักษณ์อาเซียน หากไม่ลงมาดูในพื้นที่ทำนาโดยตรง เด็กตื่นมาจะเห็นแต่ข้าวอยู่ในจาน และไม่รู้ที่มาที่ไปกว่าจะมาเป็นข้าวในจาน เราเลยพาเด็กอาเซียนมาดำนา พอเด็กดำนาเสร็จจะทราบที่มาที่ไปของข้าว ทราบต้นขั้วหรือต้นธารเชื้อชาติของตนเองว่าเป็นมาอย่างไร

พระมหาหรรษา กล่าวอีกว่า ในช่วงอยู่ต่างจังหวัดเรามีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมวิถีชีวิตกัน โดยที่บ้านท่าคอยนาง แห่งนี้จะมีชาวบ้านเชื้อชาติลาว กูย และเขมร ซึ่งเป็น 3 วัฒนธรรมอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เด็กเหล่านี้เมื่อมาจากต่างประเทศจะเห็นว่าประเทศไทยที่มีหลายเชื้อชาติ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้อย่างไร ไม่เข่นฆ่ากัน ไม่เบียดเบียนกัน เด็กจะได้เรียนรู้วิธีการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ฉะนั้นวิถีของอาเซียนต้องเริ่มจากวิถีของชุมชน อาเซียนจะเจริญเติบโตได้ เด็กต้องรู้เกี่ยวกับวิถีชุมชน สู่วิถีอาเซียน คือต้องมีรวงข้าว การแสดงวัฒนธรรม เป็นการเรียนรู้ภาษาและความแตกต่าง คือทำให้เด็กมีความรัก ความเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ปัจจุบันเมื่อมีการพูดถึงการใช้ชีวิต มักจะพูดถึงตนเอง เราไม่พยายามเรียนรู้คนอื่นเขา เรามักสรุปให้คนอื่นเขาคิดเหมือนเรา เราไม่พยายามเข้าใจคนอื่น เราจึงต้องการให้เด็กได้เห็นถึงชีวิตที่แตกต่าง จะให้เด็กได้อยู่ในชีวิตที่แตกต่างได้อย่างไร นั่นคือหัวใจของการดำเนินโครงการในครั้งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น