บุรีรัมย์ - ชาวนาเกือบทั้งหมู่บ้านที่ อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ พลิกวิกฤตช่วงหน้าแล้งไม่มีน้ำทำนาปรัง ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมและวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น ดักจับแมลงตามหน้าบ้าน ทุ่งนา และไร่อ้อย ขายให้พ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อถึงบ้าน บางวันไม่พอขายแม่ค้าถึงกับยอมจ่ายเงินมัดจำไว้ล่วงหน้า
วันนี้ (14 ม.ค.) ชาวนาในหมู่บ้านป่ามัน ม.10 ต.หัวฝาย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ เกือบทั้งหมู่บ้านกว่า 50 หลังคาเรือนได้พลิกวิกฤตช่วงหน้าแล้งที่ไม่มีน้ำทำนาปรัง โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมและวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น เช่น เศษไม้ สังกะสีเก่าทำเป็นแผง และใช้หลอดไฟล่อดักจับแมลงติดตั้งไว้บริเวณหน้าบ้าน ทุ่งนา และไร่อ้อย ทั้งนี้ เพื่อดักจับแมลงในช่วงกลางคืน ทั้งแมงดา แมงกระชอน แมงมัน จิ้งหรีด ตั๊กแตน และแมงตับเต่า นำไปประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือน และส่งขายตามตลาด บางรายมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้านในราคากิโลกรัมละ 140-160 บาท
โดยช่วงนี้แต่ละครัวเรือนสามารถดักจับแมลงได้วันละ 5-6 กิโลกรัม บางคนหากแผงดักจับแมลงติดตั้งไว้หลายจุดก็จะสามารถจับแมลงได้ถึงวันละ 10 กิโลกรัม หากนำไปขายก็มีรายได้เฉลี่ยวันละ 500-1,000 บาท สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านช่วงว่างเว้นจากการทำนาได้เป็นอย่างดี บางวันมียอดสั่งซื้อจนไม่พอขาย ถึงขนาดพ่อค้าบางคนยอมลงทุนจ่ายเงินมัดจำไว้ก่อนล่วงหน้าหากชาวบ้านดักแมลงได้จึงจะมาเอาแมลงที่บ้าน อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถดักจับแมลงได้เพียงช่วงระยะเวลาสั้นในห้วงเดือน ม.ค.-มี.ค. แต่ก็สามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้าน หรือชาวนาในช่วงหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี
นางเงิน ธำรงสิริ อายุ 52 ปี และนายอุดม แสงโพดา อายุ 48 ปี ชาวบ้านบ้านป่ามัน ต.หัวฝาย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ บอกว่า ช่วงว่างเว้นจากการทำนาชาวนาต่างพากันหันมาใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม และวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น ใช้ดักจับแมลงในช่วงกลางคืน ทั้งตั้งแผงไว้หน้าบ้าน ทุ่งนา และตามไร่อ้อย หากวันไหนอากาศอบอ้าวคล้ายกับจะมีฝนตก แมลงก็จะมาเยอะจนบางคนสามารถจับแมลงได้วันละ 5-10 กิโลกรัม จากนั้นจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้านในราคากิโลกรัมละตั้งแต่ 140-160 บาท แล้วแต่ชนิดของแมลง สามารถสร้างรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวให้กับชาวบ้านในช่วงหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ เพียงไม่กี่เดือนก็ตาม