ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพสัตว์ของกลางที่ตรวจยึดไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ หลังมีอาการเจ็บป่วยในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง
วันนี้ (14 ม.ค.) ที่สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี รองศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิงด็อกเตอร์นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณาอาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทีมสัตวแพทย์ได้ลงพื้นที่ดูสัตว์ของกลางที่ตรวจยึดไว้ที่สถานีเพาะพันธุ์นกน้ำว่า สัตว์ของกลางมีอาการ หรือเจ็บป่วยอย่างไรบ้าง โดยมีนายทรงกลด ภู่ทอง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ
รองศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิงด็อกเตอร์นันทริกา กล่าวว่า จากการตรวจสุขภาพเต่าหลายชนิดที่ตรวจยึดมาได้มีอาการเจ็บป่วยที่ชัดเจน เนื่องจากการขนส่งใส่กระเป๋าเดินทางมาจากต่างประเทศ ได้แก่ เต่าดาวอินเดีย เต่าดาวรัศมีดารา และเต่ามาดากัสการ์ หรือเต่ายูนิฟลอร่า ซึ่งมีราคาซื้อขายของนักสะสมสัตว์แปลกถึงตัวละ 2 ล้านบาท
จากสภาพที่เห็นและตรวจดูพบว่า เต่ามีน้ำหนักเบามาก ด้านล่างของกระดองเริ่มผุแล้ว ซึ่งแสดงว่าเต่ามีความเครียด หรืออาจได้รับอาหารไม่สมบูรณ์ ไม่ถูกต้องเหมือนในธรรมชาติที่พวกมันอาศัยอยู่ โดยเต่าพวกนี้จะกินสัตว์น้ำ พืช แมลง ทำให้มีโอกาสเจ็บป่วยจากการรับอาหารไม่เพียงพอย่อมเกิดขึ้นได้
สำหรับการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายจะถูกนำมาดูแล และอนุบาลในที่แห่งนี้ โดยเฉพาะเต่าชุดแรกที่รับมาคดีกำลังจะสิ้นสุด เช่น เต่าดาวรัศมี หรือยูนิฟลอร่า จะถูกส่งกลับประเทศมาดากัสการ์ ซึ่งได้การประสานกับทางมาดากัสการ์เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้รอทางรัฐบาลไทยจะดำเนินต่อไปอย่างไร ส่วนเต่าชุดใหม่ที่ยึดมาได้ต้องรอจนกว่าคดีจะสิ้นสุดที่มีระยะเวลาหลายปี เนื่องจากกฎหมายไทยต้องเก็บวัตถุพยานไว้จนคดีจะสิ้นสุด ซึ่งเหมารวมถึงสิ่งมีชีวิตด้วย
“ในความเป็นจริงไม่ควรเลี้ยงไว้จนจบคดี ถ้ามีโอกาสคืนประเทศต้นทางได้ก็ควรจะรีบคืนเขาไป ที่สำคัญสัตว์พวกนี้ปล่อยตามธรรมชาติไม่ได้ เพราะไม่ใช่สัตว์พื้นที่ถิ่นของไทย หากปล่อยในเมืองไทยจะทำลายความสมดุลทางธรรมชาติ โดยหลักการแล้วส่งคืนประเทศต้นทาง แต่มันจะมีปัญหาต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายตามมามากมาย ต้องมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล อย่างประเทศมาดากัสการ์ มารับผิดชอบค่าขนส่งให้” รองศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิงด็อกเตอร์นันทริกา กล่าว
ด้าน นายทรงกลด ภู่ทอง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ กล่าวว่า ยอมรับว่าสัตว์ที่เรารับมาดูแลนั้นมีการลำเลียงขนย้ายอย่างผิดๆ อัดมาอยู่ในกระเป๋า บางตัวก็มาในสภาพที่อ่อนแอมาก เนื่องจากขาดน้ำ ขาดอาหาร เมื่อมาถึงสถานีฯ มีการสูญเสียค่อนข้างเยอะ เต่าของกลางเหล่านี้ต้องดูแลไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ก็จะส่งกลับประเทศต้นทาง
“ที่ผ่านมาเคยส่งคืนประเทศมาดากัสการ์ไปแล้วชุดหนึ่ง เต่าพวกนี้เป็นสัตว์ต่างถิ่น ไม่สามารถปล่อยคืนธรรมชาติได้ สัตว์เหล่านี้ต้องมีวิธีการจัดการ เช่น เมื่อหมดคดีแล้วไปไหน บางส่วนอาจมอบให้สวนสัตว์ หรือส่งกลับ แต่ถ้าเป็นเต่ามาดากัสการ์ ยูนิฟลอร่า ซึ่งอยู่ในบัญชีไซเตส ต้องส่งกลับอย่างเดียว ปัจจุบัน ก็ยังมีการรับเต่าของกลางอย่างต่อเนื่อง เพราะค่านิยมในการเลี้ยงสัตว์แบบผิดๆ
สำหรับสัตว์ป่าของกลางที่หน่วยงานที่จับมาไม่ได้ให้ความช่วยเหลือในด้านงบประมาณ หรือค่าดูแลสัตว์ของกลางแต่อย่างใด จับมาได้ก็นำมาให้สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระดู และให้สถานีต่างๆ ไปดูแลโดยไม่ได้ใส่ใจเรื่องงบประมาณในการดูแล
เช่น ค่ายารักษาโรค ค่าอาหาร เมื่อสัตว์เจ็บป่วยต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำคณะสัตวแพทย์ พร้อมยารักษาโรคมารักษาเต่าของกลาง จึงอยากวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยให้การสนับสนุนงบประมาณตามมาด้วย อย่าให้สถานีรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว เมื่อหน่วยงานที่จับสัตว์ป่าของกลางมาแล้วควรจะติดตาม และสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าดูแลรักษาสัตว์ป่าเหล่านี้ด้วย