xs
xsm
sm
md
lg

“ธเนศ ศุภรสหัสรังสี” ผู้สานตำนานธุรกิจเครือซันไชน์ มองพัทยารุ่งแต่ต้องแก้ภาพลักษณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตระกูล “ศุภรสหัสรังสี” ถือเป็นตระกูลใหญ่ในแวดวงธุรกิจการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา กล่าวคือ เป็นตระกูลที่ประกอบธุรกิจประเภทสถานประกอบการโรงแรม ซึ่งมีโรงแรมในเครือกว่า 10 แห่ง มูลค่าทรัพย์สินมหาศาล ก่อตั้งโดยเจ้าสัวใหญ่ “สันต์ ศุภรสหัสรังสี” ซึ่งบุกเบิกลุยงานด้านธุรกิจท่องเที่ยวในลักษณะนี้มานานกว่า 40 ปี

กระทั่งปัจจุบันได้เริ่มถ่ายทอดกิจการต่อให้แก่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะลูกชายหัวแก้วหัวแหวน อย่าง “ธเนศ ศุภรสหัสรังสี” หนุ่มนักธุรกิจดีกรีปริญญาโท จากประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยตลอดระยะเวลาการทำงานภายใต้การบริหารจัดการของนักบริหารรุ่นใหม่ไฟแรงผู้นี้กว่า 22 ปี พบว่า โรงแรมในเครือซันไชน์ ได้ขยายฐานการตลาด รวมทั้งจำนวนโรงแรม และห้องพัก สู่การเป็นโรงแรมที่มีคุณภาพ และมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่เหตุใดในวันนี้ นักธุรกิจหนุ่มไฟแรงผู้นี้จะเป็นที่จับตามองของสังคมในเรื่องวิสัยทัศน์ที่ และมุมมองในการต่อยอดธุรกิจที่ยอดเยี่ยม

ไม่เพียงเท่านั้น การเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดัน ส่งเสริม และแก้ไขปัญหาทางการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา และปัญหาการท่องเที่ยวระดับประเทศ ยังทำให้ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรต่างๆ ให้เข้าไปทำงานในตำแหน่งที่มีบทบาทในการยกระดับการท่องเที่ยวของไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา อุปนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก และล่าสุด ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

คุณธเนศ เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ และมุมมองด้านธุรกิจว่า หลังเรียนจบจากต่างประเทศก็เริ่มเข้ามารับผิดชอบจับงานทางด้านธุรกิจโรงแรมของครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งขณะนั้นมีความมุ่งมั่นอย่างมาก และเห็นว่าเป็นงานที่ท้าทายความสามารถ เนื่องจากครอบครัวได้ก่อร่างสร้างไว้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งนอกจากจะต้องเข้ามารักษา และคงสภาพไว้ให้ดีเยี่ยมเหมือนเดิมแล้ว ยังคงต้องต่อยอดการพัฒนาให้มีความเติบโตมากขึ้นอีกด้วย

โดยตลอดระยะเวลากว่า 22 ปีของการทำงานถือว่าประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็คงไม่หยุดนิ่ง และจะเดินหน้าพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะปัจจุบันมีโรงแรมในเครือที่ต้องดูแลรวม 9 แห่ง

“สำหรับธุรกิจโรงแรมในเมืองพัทยาในอดีตถือว่าเป็นกิจการที่ทำได้ไม่ยากมากนัก การก่อสร้างโรงแรมก็เพียงเน้นให้มีความสมบูรณ์ และครบองค์ประกอบมาตรฐาน ไม่ต้องแน้นความสวยงามในแง่ของการตกแต่งมาก ตามสภาพการแข่งขันที่ไม่สูงนัก ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวก็ถือเป็นตลาดคุณภาพที่มีอัตราการเดินทางเข้าสู่พื้นที่สูง เช่น ตลาดยุโรป ผิดกับปัจจุบันที่ถือว่าการแข่งขันรุนแรงดุเดือด โดยเฉพาะเรื่องของราคาอัตราค่าเข้าพัก ทั้งนี้ เพราะปริมาณโรงแรม และห้องพักที่มีอยู่นั้นถือว่าเกินความจำเป็น หรือเรียกว่า Over Supply”

ที่สำคัญยังมีการแข่งขันด้านบุคลากรที่ต้องแก่งแย่งตัวกันมากขึ้น เพราะปัจจุบันยังมีสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรรองรับการขยายตัวทางธุรกิจโรงแรมไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องพึ่งบุคลากรที่มีประสบการณ์ทางวิชาชีพเป็นหลัก ที่สำคัญกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวของเมืองพัทยา ในส่วนของนักท่องเที่ยวคุณภาพก็ถือว่าลดน้อยลง ทั้งตลาดยุโรป อเมริกา สแกนดิเนเวีย และรัสเซีย จะมีก็เพียงตลาดระยะใกล้อย่าง จีน อินเดีย เกาหลี หรือกลุ่มตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีอัตราการเข้าพักระยะสั้นเท่านั้นที่เข้ามาแทนที่

“การทำธุรกิจด้านนี้ต้องแข่งขัน และปรับกลยุทธ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็จะดีขึ้นบ้างคือเรื่องของการจัดโปรโมชัน การส่งเสริมการขาย ที่ปัจจุบันมีความสะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาในด้าน Network ที่ล้ำหน้าไปมาก”

“ธเนศ” กล่าวต่ออีกว่า สำหรับเมืองพัทยาในส่วนตัวแล้วมองว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีความพร้อมในแง่ของการเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เนื่องจากมีความได้เปรียบของแหล่งท่องเที่ยว ภูมิศาสตร์ที่ตั้ง และระบบโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยเพราะเป็นเมืองชายทะเลที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ใกล้ศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมโยงอย่างสนามบินสุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา เส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบาย

ที่สำคัญปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวยังมีการพัฒนาถึงขีดสุด สามารถรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่ม ทั้งส่วนบุคคล ครอบครัว คู่สมรส รวมถึงคนพิการ และผู้สูงอายุ จึงทำให้ยังคงเป็นชัยภูมิที่นักลงทุนสนใจ และขนเงินมาลงทุนอย่างต่อเนื่อง

“แต่ทั้งนี้ปัญหาหนึ่งที่ภาครัฐ และผู้เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ และใส่ใจคือ การแก้ไขปัญหาในเรื่องของภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวบางส่วนยังมองเมืองพัทยาในเชิงลบว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางคืน เน้นการท่องเที่ยวทางเพศเป็นหลัก รวมทั้งแผนการรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องของการจัดระเบียบต่างๆ ปัญหาภาพลักษณ์เชิงลบในเรื่องเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเพศ ปัญหาการจราจร ปัญหาน้ำท่วมขัง ขยะมูลฝอย และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ซึ่งภาครัฐ และเอกชนต้องร่วมกันวางแผนระยะยาวให้สามารถมีสาธารณูปโภคพื้นฐานเหล่านี้ให้ได้มาตรฐาน และเพียงพอต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี”

กรณีเหล่านี้ถือเป็นกลไกสำคัญต่อเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ที่จะต้องไม่ได้มุ่งหวังในแง่ปริมาณนักท่องเที่ยว แต่ต้องเลือกขยายฐานนักท่องเที่ยวไปยังตลาดที่มีคุณภาพด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น