xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก พบวันนี้ยังไม่ขยับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - จับตาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หลังรัฐบาล โดย คสช.ได้ประกาศจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่ง เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนที่ติดต่อกับเพื่อนบ้าน ภาคตะวันออก ตราด-สระแก้ว ยังนิ่ง ด้านบีโอไอหนุนเต็มที่ ชูสิทธิพิเศษภาษีดันผู้ประกอบการไทย-ต่างชาติลงทุนในเขต ศก.พิเศษ

หลังรัฐบาลโดย คสช.ได้ประกาศจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่ง เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนที่ติดต่อกับเพื่อนบ้านให้มากขึ้น พร้อมสร้างโอกาสและสร้างงาน สร้างรายได้ในพื้นที่ที่ได้มีการจัดตั้ง ซึ่งจังหวัดชายแดน ทั้งสระแก้ว และตราด แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่มีศักยภาพในการพัฒนาการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีพื้นที่ค้าขายทั้งทางบก และทางน้ำ ที่สามารถส่งสินค้าไปยังกัมพูชา และเวียดนามตอนใต้ รวมทั้งมีการส่งไปยังประเทศจีนได้

ในแต่ละปีมีมูลค่าในการค้าขายชายแดนปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีการดำเนินการจะสามารถสร้างรายได้ให้สูงขึ้นอีก จึงเป็นที่มาในการผลักดันให้จังหวัดตราด-สระแก้ว ก้าวไปสู่แหล่งลงทุน และแหล่งการค้า และเป็นประตูสู่อินโดจีนด้านตะวันออก

สำหรับจังหวัดตราด ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายยุค น.ส.เบญจวรรณ อ่านเปรื่อง และนายณรงค์ ธีระจันทรางกรู ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ที่ได้วางยุทธศาสตร์ และวางตำแหน่งของเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษไว้ว่า จังหวัดตราด ให้เป็น “นิคมอุสาหกรรมด้านลอจิสติกส์และธุรกิจบริการ “ใช้พื้นที่กว่า 880 ไร่ใ น ต.ไม้รูด ที่เคยเป็นที่ตั้งของศูนย์อพยพของชาวกัมพูชา มาดำเนินการจัดตั้ง ซึ่งในปัจจุบันได้ให้ทางกรมธนารักษ์ นำที่ดินไปดำเนินการรังวัด และทำเป็นที่ดินราชพัสดุ เพื่อให้ทางการนิคมอุสาหกรรมนำไปพัฒนา”

ที่ผ่านมา จังหวัดตราดได้มีการดำเนินการจัดทำผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะในแต่ละพื้นที่แล้วโดยร่วมมือกับทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการจัดทำผังเมืองและได้ให้ชาวอำเภอคลองใหญ่ ได้ประชาพิจารณ์แล้วในครั้งแรก เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษ

วันนี้ จังหวัดตราด ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างถนน 4 เลน จากอำเมืองตราด สู่อำเภอคลองใหญ่ จดชานแดนกัมพูชา ด้วยงบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปี 2561 ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ ที่จะเสร็จในเดือนมกราคม 2559 การเปิดใช้ศูนย์เอกซเรย์สินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์ที่ ต.ไม้รูด ของศุลกากรคลองใหญ่ อยู่ระหว่างการทดลองเปิดใช้ การก่อสร้างด่านชายแดนที่หาดเล็ก กำลังปรับปรุงให้เป็นสากล และสาธารณูปโภคอื่นๆ ทั้งน้ำ ไฟฟ้าก็พร้อมแล้ว

จากการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาพื้นที่เมืองชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน บทบาทของเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน พื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจของพื้นที่ ความได้เปรียบเสียเปรียบทางกรค้าของไทย และ POSITIONING ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด ที่ทางคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษอนุมัติเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่คลองใหญ่ ให้เกิดการกระจายรายได้ และผลประโยชน์แก่ประเทศ ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ว่า ผลประโยชน์จะกระจายลงสู่พื้นที่ได้อย่างไร อยู่ตรงไหน

จังหวัดตราด จึงมีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตราด ขึ้น สำหรับแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด” คือ การ พัฒนาเป็นเมืองบริการ การค้าระหว่างประเทศ ครบวงจร ศูนย์กลางการค้า และการขนส่งต่อเนื่องระหว่างประเทศ และการเป็นศูนย์กลางให้บริการการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาค และได้ระบุบทบาทหลักของ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด” 3 บทบาท ดังนี้

คือ 1.การเป็นศูนย์สนับสนุนและให้บริการการนำเข้า-ส่งออก 2.การเป็นศูนย์รวมระบบลอจิสติกส์ทั้งการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ 3.การเป็นศูนย์กลางให้บริการการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาค

การผลักดันของภาครัฐในปัจจุบัน

จังหวัดตราด เร่งผลักดันแก้ปัญหาพื้นที่รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดย นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ว่า ได้เข้าพื้นที่ และติดตามพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และทราบว่ามีปัญหาในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องมีประชาชนเข้ามาบุกรุกในพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริการที่ทางรัฐบาลได้มีการประกาศไว้ 880 ไร่ และในพื้นที่มีปัญหากองขยะในบ่อไพลิน ที่มีขยะตกค้างอยู่หลายหมื่นตัน

ส่วนท่าเรือคลองใหญ่ สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2559 แต่ยังมีปัญหาเรื่องถนนทางเข้าท่าเรือที่ยังมีบ้านเรือนประชาชนขวางอยู่ และยังไม่ย้ายออกไปจึงต้องมีการเวนคืน ซึ่งกำลังดำเนินการในเรื่องนี้ และเรื่องการก่อสร้างด่านพรมแดนที่ทางจังหวัดได้ดำเนินการออกแบบด้านพรมแดนหาดเล็ก ให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อรองรับความเติบโตของจังหวัดตราด

ทั้งนี้ การก่อสร้างถนน 4 เลน จากจังหวัดตราด ไปหาดเล็กได้รับงบประมาณในการก่อสร้างแล้ว จะสามารถก่อสร้างได้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ทางจังหวัดตราด ยังได้ให้ทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จัดทำผังเมืองรวมของอำเภอคลองใหญ่ และผังเมืองในแต่ละพื้นที่ 3 แห่ง คือ ในตำบลคลองใหญ่ ตำบลหาดเล็ก และตำบลไม้รูด พร้อมให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและได้ดำเนินการไปแล้วในระยะแรก

ในส่วนของการแก้ปัญหาขยะออกไปนั้น นายประธาน สุรกิจบวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ได้ดำเนินการจัดทำโครงการ และแก้ปัญหาในการขนย้ายออกจากพื้นที่ซึ่งได้มีการจัดทำแผนในการดำเนินการแล้ว และทาง จ.ตราด จะนำโครงการเข้าสู่ที่ประชุมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเพื่อของบประมาณในการแก้ปัญหา จำนวน 26 ล้านบาท

ขณะที่ นายโสรัจ สังขวรรณ นายด้านศุลกากรคลองใหญ่ จังหวัดตราด กล่าวว่า ทางด่านศุลกากรคลองใหญ่ ได้ดำเนินการก่อสร้างจุดตรวจสินค้าขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานในการมีเครื่องเอกซเรย์สินค้าที่ทันสมัยตั้งอยู่ที่ตำบลไม้รูด ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จซึ่งในต้นปีจะเปิดการใช้งาน ซึ่งจะสารมารถรองรับการขนสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากได้ ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่การขนส่งสินค้าได้รวดเร็วมากขึ้นด้วย

ส่วนที่ด่านพรมแดนหาดเล็ก ที่ปัจจุบันทางกรมศุลกากรได้ให้งบประมาณ 50 ล้านบาท มาก่อสร้าง แต่ทาง สมช.ได้ขอให้ชะลอโครงการเนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องเขตแดน

สำหรับสำนักงานธนารักษ์ ได้ดำเนินการรังวัดที่ดินที่ทางรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริการและลอจิสติกส์ เพื่อจัดทำเป็นที่ดินราชพัสดุ และให้ทางกรมธนารักษ์ดำเนินการนำไปประเมินราคาให้ทางการนิคมอุตสาหกรรม นำไปพัฒนา และให้ทางเอกชนเข้ามาเช่าในพื้นที่ ซึ่งจะต้องให้คณะกรรมการพิจารณาแล้ว

หากพิจารณาศักยภาพในการตั้งฐานการผลิตของอำเภอคลองใหญ่ ซึ่งลักษณะพื้นที่ค่อนข้างจำกัดสำหรับการจัดตั้งฐานการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เนื่องจากภูมิประเทศเป็นพื้นที่แคบยาวเลียบไปตามชายฝั่งทะเล คุณภาพของถนนดี แต่ไม่เหมาะต่อการขนส่งสินค้าหนัก ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดอาจมีความเหมาะสมมากกว่า ในขณะเดียวกัน หากไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแรงงานกัมพูชา พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกมีความเหมาะสมได้เปรียบกว่าพื้นที่จังหวัดตราด

นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชามีนโยบายป้องกันไม่ให้แรงงานไหลเข้ามาทำงานในประเทศไทย จึงได้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเกาะกง เพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ดังนั้น สรุปได้ว่าพื้นที่ชายแดนอำเภอคลองใหญ่ ไม่เหมาะสมต่อการจัดตั้งฐานผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากแรงงาน การเติบโตทางภาคอุตสาหกรรมการผลิตในพื้นที่ จะเป็นลักษณะการสร้างสรรค์ผลผลิตที่มีคุณค่า หรือมีลักษณะเฉพาะตามบทบาทของพื้นที่ กับ Positioning “ตราด...เมืองสีเขียว” เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของคลองใหญ่เป็นที่ต้องการ และได้รับการยอมรับจากตลาดโลก

ด้าน นายเมธา ล้อเจริญวัฒนะชัย พ่อค้าชายแดนอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว กล่าวถึงความคืบหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลังประกาศให้จังหวัดสระแก้วเป็น 1 ใน 5 จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2558 จนถึงขณะนี้ผ่านมาเกือบ 1 ปี พบว่า ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย หรือนิ่งอยู่กับที่โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ในช่วงแรกที่มีประกาศจะเกิดโครงการดังกล่าวขึ้นในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว โดยหน่วยงานราชการในพื้นที่มีการตื่นตัว และเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมเกือบทุกวัน แต่เวลาล่วงเลยมานานแล้ว และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทำให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ค่อยมีการประชุม หรือเคลื่อนไหวอะไรเลยในขณะนี้

“สาเหตุที่โครงการดังกล่าวเงียบ และไม่มีอะไรเคลื่อนไหว เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะเม็ดเงินจากส่วนกลางที่จะลงมาพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งยังไม่มีการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม นอกจากนั้น พื้นที่ที่กำหนดจะให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ราคาที่ดินมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก เช่น จากเดิมราคาไร่ละ 10,000 บาท มีการปรับเป็นไร่ละ 1 ล้านบาท แล้วใครจะกล้าเข้ามาลงทุน” นายเมธา กล่าว

นายเมธา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีแต่แผน หรือโครงการเท่านั้น เช่น โครงการจะเปิดเส้นทางพิเศษบริเวณพื้นที่หนองเอี่ยน เพื่อให้รถบรรทุกขนาดใหญ่สามารถวิ่งส่งสินค้าได้ โดยไม่ต้องผ่านเส้นทางสายหลักที่การจราจรติดขัด และต้องเสียเวลานาน แต่โครงการดังกล่าวก็ไม่อะไรคืบหน้า

นอกจากนั้น การใช้เส้นทางรถไฟ ซึ่งมีรางรองรับเรียบร้อยแล้ว แต่ขบวนรถไฟจะมาวิ่งยังไม่มี จึงมองได้ว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษยังไม่มีอะไรเคลื่อนไหวเลยในขณะนี้

โครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีที่จะให้พื้นที่ชายแดนด้านจังหวัดสระแก้ว เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และประเทศไทยก็พร้อมผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแม้จะใช้เวลานานก็ตาม แต่หากมองกลับไปยังประเทศกัมพูชาที่จะเชื่อมต่อกับประเทศไทย ยังไม่มีโครงการอะไรมาสอดรับต่อโครงการดังกล่าวเลย

โดยหากโครงการในฝั่งของประเทศไทยแล้วเสร็จ ก็ต้องประสบปัญหาที่ประเทศกัมพูชาอีกเช่นกัน เหมือนเช่นในปัจจุบันที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ในประเทศพม่า ยังไม่มีอะไรมาสอดรับเลย ขณะนี้มีเพียงนักท่องเที่ยวเดินทางมายังอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยมาจับจ่ายซื้อสินค้าที่ตลาดโรงเกลือ แต่ก็ไม่มาก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจไม่ดีทั่วโลก นอกจากนั้น มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออกโดยไปยังบ่อนกาสิโน

ด้าน นายอภิชัย อภิวัฒนา พาณิชย์จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการ และนักลงทุนสนใจ และมาขอข้อมูลเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้วอย่างต่อเนื่อง 137 ราย เช่น บริษัท Worid MS Co.Ltd เสนอโครงการสร้างเมืองใหม่ โดยต้องการใช้พื้นที่ 6,000 ไร่ ในอำเภอวัฒนานคร, บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ได้เสนอโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมสีเขียวครบวงจร และฮาลาลพาร์ค (Halal Park) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มูลค่าการลงทุนประมาณ 15,000-30,000 ล้านบาท บริษัท สินธนาพืชผล จำกัด สนใจดำเนินธุรกิจ รวบรวมและแปรรูปสินค้าด้านการเกษตร บริษัท ธนารีสอร์ท จำกัด สนใจดำเนินธุรกิจ ห้องพัก โรงแรม (บริการ) บริษัท สุนันทาพลาสติกกรีป จำกัด บริษัท ไทย ซัมมิทฮาร์เนส (สาขาสระแก้ว)

บริษัท โตโยต้าทูโช เอเชีย แปซิฟิค (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท พีเอส.เอนเตอร์ไพร์สโซลูชั่นส์ จำกัด เสนอโครงการผลิตน้ำดื่มสำหรับบริโภคเพื่อให้แก่โรงพยาบาล โรงแรม สถานศึกษา และร้านค้า รวมทั้งดำเนินการบรรจุก๊าซหุงต้มสำหรับใช้ในครัวเรือน และกลุ่ม 304 อินดัสเตรียลปาร์ค เสนอโครงการเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนที่สนใจสอบถามข้อมูลไปที่ BOI และกระทรวงอุตสาหกรรมอีกจำนวนหนึ่ง แต่ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลมายังจังหวัด

บีโอไอ ชูสิทธิพิเศษภาษีดันผู้ประกอบการไทย-ต่างชาติ ลงทุนในเขต ศก.พิเศษ

นายชนินทร์ ชาวจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 หรือบีโอไอ แหลมฉบัง เผยว่า อีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่จะสนองนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้เกิดการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งภาคตะวันออกมีอยู่ 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดตราด

โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ที่ดูแล้วน่าจะมีแนวโน้มไปได้ดีจากการมีพื้นที่เชื่อมกับประเทศกัมพูชา และสามารถเชื่อมโยงตลาดการค้าไปยังประเทศเวียดนามได้ก็คือ การส่งเสริมให้คนไทย หรือชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน หรือขยายการลงทุนในประเทศ หันไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษมากขึ้น เพื่อลดความแออัดในการขนส่งสินค้าในจุดที่มีการตั้งนิคมอตุสาหกรรมจำนวนมาก

พร้อมทั้งยังเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงการค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ที่นับจากนี้จะไม่ใช่เฉพาะชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบรถยนต์ แต่จะมองไปถึงการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้ในการซ่อมบำรุงเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้ง กัมพูชา และเวียดนาม ที่กำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนเท่านั้น

โดยบีโอไอ แหลมฉบัง จะเร่งชักจูงให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่ 2 แห่งในภาคตะวันออก ด้วยการชูจุดเด่นเกี่ยวกับมาตรการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ที่จะเข้าไปลงทุน คือ หากเป็นโครงการลงทุนทั่วไปที่ได้สิทธิประโยชน์อยู่แล้ว หากเข้าไปอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะได้สิทธิยกเว้นภาษีเพิ่มขึ้นอีก 3 ปี แต่ต้องไม่เกิน 8 ปี แต่หากได้สิทธิพิเศษ 8 ปีแล้ว บีโอไอ ก็จะลดหย่อนภาษีเงินได้ลง 50% ให้อีกเป็นเวลา 5 ปี

แต่หากนักลงทุนสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกำหนดไว้ บีโอไอ ก็จะให้สิทธิพิเศษอย่างเต็มที่ คือ นอกจากจะได้สิทธิพิเศษทางภาษีเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ยังจะได้รับการลดหย่อนภาษีลงอีก 50% เป็นเวลาอีก 5 ปีเช่นกัน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ถือเป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอกำหนดไว้ เช่นเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมอีกหลายประเภท และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อการขนส่ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของการค้าตามแนวชายแดน

“ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้น หน้าที่ของเราจึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนในพื้นที่ และพื้นที่อื่นๆ สนใจลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 2 แห่ง โดยเน้นอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องต่อพื้นที่ตรงนั้นให้มากที่สุด ซึ่งแนวโน้มการประสบความสำเร็จของเขตเศรษฐกิจพิเศษมีสูง เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่สำคัญแต่ละเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะมีการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนด้วย” นายชนินทร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น