เชียงใหม่ - คนแห่ฝ่าลมหนาวรอชม “ฝนดาวตกเจมินิดส์” ส่งท้ายปี 58 บนดอยอินทนนท์ จุดสูงสุดแดนสยาม คึกคัก เผย 22 ธันวาฯ นี้มี “ฝนดาวตกเออร์ซิดส์” อีก
วันนี้ (15 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนดอยอินทนนท์ จุดสูงสุดแดนสยามเมื่อคืนที่ผ่านมา (14 ธ.ค.) มีผู้คนเดินทางไปร่วมกิจกรรม “เปิดฟ้า...ตามหาดาว” ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จัดขึ้นกันเป็นจำนวนมาก เพื่อรอชมฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ส่งท้ายปี 2558 ท่ามกลางลมหนาวที่พัดโชยตลอดเวลา
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วง 14-17 ธันวาคมของทุกๆ ปีจะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่”
โดยปีนี้จะสังเกตเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำหลังดวงจันทร์ลับขอบฟ้า หรือตั้งแต่เวลาประมาณ 20.30 น. ของคืนวันที่ 14 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ธันวาคม และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง มีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ระหว่างดาวพอลลักซ์ กับดาวคาสเตอร์ สามารถมองเห็นได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย
วิธีการชมฝนดาวตกให้สบายที่สุดนั้นอาจใช้วิธีนอนรอชมหรือนั่งบนเก้าอี้ที่สามารถเอนนอนได้เพื่อไม่ให้เกิดอาการเมื่อยคอเนื่องจากใช้ระยะเวลายาวนาน และในช่วงเดือนธันวาคมเป็นช่วงที่มีอากาศหนาว ควรเตรียมอุปกรณ์กันหนาวให้พร้อม และเตรียมยาทากันยุงไว้ด้วย
ดร.ศรัณย์กล่าวเพิ่มเติมว่า และนอกจากฝนดาวตกเจมินิดส์แล้วยังมีฝนดาวตกชุดอื่นให้ชมกันอีก เช่น ฝนดาวตกพัพพิดส์-เวลิดส์ ในคืนวันที่ 9 ธันวาคม อัตราการตก 15 ดวงต่อชั่วโมง และฝนดาวตกเออร์ซิดส์ ในคืนวันที่ 22 ธันวาคม 2558 อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง ฯลฯ ถือเป็นเดือนส่งท้ายปีที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง
ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอนทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball)
ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือเป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุดจุดหนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ หรือดาวที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนั้น เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น