พิษณุโลก - นักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ ม.นเรศวร สุดเจ๋ง เดินหน้าค้นคว้าวิจัยจนจำแนกเพศ “อินทผลัมไทย พันธุ์แม่โจ้ 36” จนสำเร็จแล้ว ช่วยเกษตรกรลดทั้งต้นทุน-เวลา จากเดิมต้องเสี่ยงปลูกไปก่อนถึง 3 ปีถึงจะรู้เป็นเพศผู้ หรือเพศเมีย
วันนี้ (3 ธ.ค.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวว่า ทางคณะวิจัยได้งบประมาณจากโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศึกษาค้นคว้า เพื่อแยกเพศของอินทผลัม (Date palm) กำลังเป็นที่นิยมของท้องตลาด เนื่องจากผลมีรสชาติหอมหวานฉ่ำ รับประทานได้ทั้งผลสด และอบแห้ง ผลสุกมักนิยมนำไปตากแห้ง สามารถเก็บไว้กินได้หลายปีเพื่อให้ลดต้นทุน และเวลาการผลิตของเกษตรกร
ล่าสุดจากการศึกษาค้นคว้า อินทผลัมไทยพันธุ์แม่โจ้ 36 มานานกว่า 3 ปีก็สามารถแยกเพศของอินทผลัมเป็นประสบผลสำเร็จ โดยผ่านขั้นตอนตรวจสอบดีเอ็นเอ ซึ่งในการเก็บตัวอย่าง คณะวิจัยจะนำใบของอินทผลัมมาบด แล้วนำไปทดสอบในห้องแล็บ ผ่านกระบวนการวิจัย และเครื่องมือตรวจสอบดีเอ็นเอเหมือนมนุษย์ ก็สามารถแยกเพศได้เป็นผลสำเร็จ คือเพศผู้ปรากฏแถบดีเอ็นเอ 2 แถบ เพศเมียปรากฏแถบดีเอ็นเอ 1 แถบ นอกจากนี้ยังสามารถระบุ DNA ที่ได้มาตรฐานอีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พีระศักดิ์กล่าวอีกว่า จากการวิจัยและค้นคว้าแยกดีเอ็นเอทำให้รู้เพศของอินทผลัม ถือว่าเป็นผลดีของเกษตรกรในการลดต้นทุน ลดเวลาในการเพาะปลูก เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรต้องปลูกต้นกล้าอินทผลัมแบบไม่รู้ว่าต้นใดเป็นตัวผู้ หรือตัวเมีย ต้องสุ่มปลูกในแปลงก่อน
จากนั้นรอเวลาถึง 3-5 ปีถึงจะรู้ว่าต้นใดเป็นต้นเพศเมียที่ออกผล และต้นใดเป็นตัวผู้ที่มีไว้สำหรับผสมเกสร ซึ่งในแปลงกล้าอินทผลัมนั้น หากจะให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ควรมีต้นตัวเมียจำนวน 10 ต้น ตัวผู้ 1 ต้นเท่านั้น
ส่วนราคาในขณะนี้หากเป็นต้นกล้าก็จะอยู่ที่ราคา 500-800 บาท ส่วนผลอินทผลัมราคากิโลกรัมละ 400 บาท ปัจจุบันอินทผลัมกำลังเป็นที่นิยมของท้องตลาด นำไปแปรรูปต่างๆ เป็นพืชเศรษฐกิจ