ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กลุ่มนักวิชาการที่ร่วมตั้งโต๊ะแถลงการณ์ “มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ค่ายทหาร” โต้รัฐบาลที่เชียงใหม่ เข้าพบพนักงานสอบสวนและรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.แล้ว ด้าน จนท.เผยเบื้องต้นไม่มีการควบคุมตัวและปล่อยตัวโดยไม่ต้องยื่นประกัน ให้ต่อสู้คดีตามขั้นตอนกฎหมาย
เวลาประมาณ 15.00 น.วันนี้ (24 พ.ย. 58) ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายอรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายจรูญ หยูทอง นักวิชาการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ, นายณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และนายมานะ นาคำ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนหลังได้รับหมายเรียกข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้า คสช. จากกรณีที่เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 58 ได้ร่วมกันแถลงการณ์เรื่อง “มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่โรงแรมไอบิส สไตล์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจด้วย
ทั้งนี้ พ.ต.อ.มณฑป แสงจำนง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกกลุ่มนักวิชาการดังกล่าวจากกรณีที่ได้ร่วมกันแถลงการณ์เรื่อง “มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 58 ที่ผ่านมา ด้วยข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้า คสช.
โดยทั้งหมดได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และได้รับทราบข้อกล่าวหาเป็นที่เรียบร้อย โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้แต่อย่างใด และปล่อยตัวชั่วคราวโดยที่ไม่ต้องยื่นขอประกันตัว ส่วนการดำเนินการจากนี้ก็จะเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการตามกฎหมาย
ขณะที่ภายหลังที่กลุ่มนักวิชาการดังกล่าวได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว นายอรรถจักร เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว แต่ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่ากลุ่มนักวิชาการทั้งหมดไม่ได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด และพร้อมที่ต่อสู้คดีตามกฎหมายต่อไปจนถึงที่สุด นอกจากนี้ได้มีการออกแถลงการณ์ในนามเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย เรื่อง ยืนยัน “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ซึ่งเนื้อหาโดยสรุปยืนยันว่าการแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ไม่ได้ขัดข้อกฎหมายใดๆ เป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา เพื่อสื่อสารกับสาธารณะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับการศึกษาในมหาวิทยาลัย และการแสดงความคิดเห็นเป็นหลักการพื้นฐานในการดำรงอยู่ร่วมกันของทุกคนในสังคม ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทุกคนทุกฝ่ายในสังคมจำเป็นจะต้องได้รับการปกป้องอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมอย่างแท้จริง