xs
xsm
sm
md
lg

“ระยอง” รับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หน่วยงานต่างๆ ร่วมรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3
ระยอง - เปิดรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ด้านนักวิชาการประมงหวั่นกระทบหญ้าทะเล สาหร่ายทะเลถูกทำลาย ซึ่งเป็นอาหารของพะยูน

วันนี้ (17 พ.ย.) ที่ห้องประชุมภักดีศรีสงครามชั้น 4 ศาลากลาง จ.ระยอง ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพครั้งที่ 2 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่

โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นายจำรัส เณรทอง ผอ.สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด นายวรรณ ชาตรี ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (ทช.) นายพีรธร นาคสุข เจ้าพนักงานตรวจท่าชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง ฯลฯ และเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นจำนวนมาก

บริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย นายศุภชัย ตั้งศรีวงษ์ ผู้จัดการโครงการ นายสายัณต์ บุญพิทักษ์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม และคณะชี้แจงรายละเอียดของโครงการ

ทั้งนี้ นายบุญธรรม ใยกล้า นายกเทศมนตรีตำบลเนินพระ อ.เมือง กล่าวว่า ที่ผ่านมาชายหาดถูกกัดเซาะจนถึงปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขปัญหา ส่งผลกระทบแหล่งท่องเที่ยวชายหาดของ ต.เนินพระ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการแก้ไข ทำอย่างไรไม่ให้ชายฝั่งเกิดการเซาะ และลุกลามมากขึ้น

นายศักดา โชติชัย สมาชิกสภาเทศบาลตำบลพลา อ.บ้านฉาง กล่าวว่า ตำบลพลา มีชายหาดเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของ อ.บ้านฉาง ปัจจุบันชายหาดพลาได้รับผลกระทบมลพิษทางน้ำ ส่งผลกระทบนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำไม่ได้ จากการถมพื้นที่ออกไปในทะเล ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง

ตั้งแต่เริ่มมีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้รับผลกระทบมลพิษทางน้ำ ชายฝั่งถูกกัดเซาะ และมลพิษทางอากาศแต่ถูกกำหนดให้อยู่นอกเขตมลพิษรัศมี 5 กิโลเมตร เราไม่สามารถหยุดยั้งโครงการฯ นี้ได้ เพียงแต่ขอเรียกร้องให้จัดตั้งกองทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ชาวพลาได้รับการเยียวยาบ้าง

นายวรรณ ชาตรี ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล รับผิดชอบทะเล จ.ระยอง จันทบุรี และตราด กล่าวว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ.บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว มาตรา 12 จะมีคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณากรณีที่เกี่ยวข้องต่อผลกระทบทางทะเลทุกกรณี สำหรับโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 นี้ เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฉบับนี้ และในมาตรา 5 พ.ร.บ.ฉบับนี้มีคณะกรรมการระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ฝากให้บริษัทที่ปรึกษาโครงการได้ไปคุย และศึกษารายละเอียดกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้

ด้านนักวิชาการประมง กล่าวว่า ได้มีการศึกษาวิจัยสาหร่ายทะเลมาตั้งแต่ พ.ศ.2526 เวลาหน้ามรสุมสาหร่ายทะเลจะกองเต็มทะเล และบริเวณชายฝั่ง แต่ปัจจุบันไม่เหลือเลย หากมีการก่อสร้างในทะเล ทั้งหญ้าทะเล และสาหร่ายทะเลบริเวณชายหาดพะยูน และหาดพลา อ.บ้านฉางจะถูกทำลาย เนื่องจากจะเกิดตะกอน พื้นดินจะไม่มีเหลืออาหารสำหรับพะยูน แล้วพะยูนจะไปอยู่ที่ไหน ปัจจุบันนี้จากการสำรวจพะยูนเหลืออยู่ 10 กว่าตัวเท่านั้น
ด้านนักวิชาการประมงหวั่นโครงการกระทบ หญ้าทะเล-สาหร่ายทะเลถูกทำลาย ซึ่งเป็นอาหารของพยูน
กำลังโหลดความคิดเห็น