xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจศูนย์จอดเรือเมืองพัทยาหลังโดนพิษหว่ามก๋อถล่มเสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ตรวจศูนย์จอดเรือเมืองพัทยา หลังโดน “หว่ามก๋อ” ถล่มเสียหายอย่างหนัก เร่งสรุปใน 30 วัน ก่อนเจรจาผู้รับเหมาปรับปรุงก่อนหมดสัญญาประกัน เมืองพัทยายอมรับความผิดพลาด เตรียมเร่งหารือผู้ชำนาญการ หารูปแบบโครงสร้างปรับแก้เร่งด่วน

วันนี้ (16 พ.ย.) นายสุนทร สมประมัย ผู้อำนวยการส่วนวิศกรรมก่อสร้าง สำนักการช่างเมืองพัทยา พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเดินทางลงพื้นที่บริเวณศูนย์บริการจอดเรือเมืองพัทยา แหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ จ.ชลบุรี เพื่อตรวจสอบสภาพความเสียหายของโครงสร้างทุ่นจอดเรือ อุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบไฮดรอลิก และแนวกันคลื่นของศูนย์ดังกล่าวหลังเกิดความเสียหายเนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาภัยพิบัติลมมรสุม “หว่ามก๋อ” ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายโครงการศูนย์จอดเรือเมืองพัทยา ก่อนสรุปรายละเอียดความเสียหายเพื่อเจรจาร่วมกับผู้รับเหมาโครงการในการแก้ไข ซ่อมแซมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา ในฐานะประธานคณะทำงาน ระบุว่า สำหรับโครงการดังกล่าวแต่เดิมเป็นโครงการก่อสร้างที่จอดรถ และเรือบริเวณพื้นที่หน้าท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ที่ได้ขออนุมัติงบประมาณจากภาครัฐในปี 2551 เป็นเงิน 735 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 ส่วนมีการตรวจรับจากผู้รับเหมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ในส่วนของที่จอดเรือนั้นยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาบางประการ โดยเฉพาะกรณีของกระแสคลื่นลมในทะเล

ทั้งนี้ เนื่องจากแบบโครงสร้างของศูนย์แต่เดิมที่ออกแบบไว้นั้น ทาง สผ.ได้ทักท้วง และให้ทำการแก้ไขแบบใหม่ในส่วนของ Break Water หรือแนวกันคลื่นใต้ทะเล ซึ่งในแบบจะมีการก่อสร้างแนวคอนกรีตจากระดับผิวน้ำจนถึงพื้นทะเลเพื่อป้องกันคลื่นใต้น้ำ โดย สผ.ระบุว่า แนวกันคลื่นลักษณะนี้อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนตัวของมวลทรายได้ จึงได้ให้ทำการรื้อโครงสร้างใต้น้ำออกในระยะ 5 เมตร จากนั้นผู้รับเหมาจึงเข้ามาดำเนินการตามแผนและงบประมาณที่ได้รับการอุดหนุนจนแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าช่องว่างใต้น้ำที่ได้เว้นระยะไว้นั้นกลับทำให้แนวกันคลื่นเกิดช่องว่างที่ถูกบีบให้เล็กลงซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ส่งผลให้กระแสน้ำมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนพัดเอาตะกอนทรายหายไป และคลื่นได้ซัดเข้าสู่โครงสร้าง และทุ่นจอดเรือจนเกิดความเสียหาย ซึ่งกรณีนี้เมืองพัทยาต้องขอยอมรับว่าเป็นความชะล่าใจจนเกิดความผิดพลาด แต่ก็ได้หาทางออกร่วมกับผู้รับผิดชอบเพื่อแก้ไข ก่อนมอบหมายให้ทางผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการกระทั่งใกล้แล้วเสร็จ และเตรียมเปิดใช้ แต่ก็มาเจอภัยพิบัติจากมรสุมจนเกิดความเสียหายซ้ำอีก

เมืองพัทยา จึงต้องเร่งลงพื้นที่เพื่อสำรวจ และประเมินค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ก่อนเข้าเจรจาร่วมกับผู้รับเหมาว่าจะสามารถแบ่งความรับผิดชอบในการซ่อมบำรุงอย่างไร เนื่องจากความเสียหายหลายส่วนนั้นเกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งเมืองพัทยาต้องรับผิดชอบเอง หรือเกิดจากปัญหาด้านอื่นที่ทางผู้รับเหมาต้องเข้ามาดูแลเพราะยังอยู่ในช่วงของสัญญาประกันที่จะหมดลงช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

นายรณกิจ กล่าวว่า สำหรับโครงการศูนย์บริการที่จอดเรือเมืองพัทยานั้น จากนี้คงจะยังคอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด แต่คงจะยังเปิดดำเนินการจนกว่าจะดำเนินการตามแผนที่จะมีการหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อหารูปแบบการจัดทำระบบแนวกันคลื่นใต้ทะเลทดแทนระบบเดิมที่ถูกให้รื้อออก ซึ่งจะต้องมีศักยภาพในการลดความรุนแรงของกระแสน้ำที่จะไม่มีผลต่อโครงสร้างของศูนย์ และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ หรือการเคลื่อนตัวของชายหาด

โดยอาจจะต้องมีการตั้งงบประมาณมารองรับในการจัดทำ รวมทั้งสรรหาผู้ติดตั้งระบบซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

กำลังโหลดความคิดเห็น